คุณกำลังมองหาอะไร?

ะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโซเดียมสูง กินบ่อย เสี่ยง ‘ความดันสูง – หัวใจวาย

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

01.02.2565
479
3
แชร์
01
กุมภาพันธ์
2565

กรมอนามัย เตือน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโซเดียมสูง กินบ่อย เสี่ยง ‘ความดันสูง – หัวใจวาย’

 

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีโซเดียมสูงเป็นประจำ เสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจทำงานหนักขึ้น และหัวใจวายได้ในที่สุด แนะเลี่ยงเติมผงปรุงรสหมดซองและกินน้ำซุปหมดถ้วย และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ “ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” เพื่อสุขภาพที่ดี

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีมีการโพสต์ภาพ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้าจากต่างประเทศยี่ห้อหนึ่ง พบปริมาณโซเดียมระบุบนซองสูงถึง 26,240 มิลลิกรัมเกินกว่าที่ร่างกายจะรับได้ โดยปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวันไม่ควรเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม หรือเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา การกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงต้องคำนึงถึงปริมาณโซเดียมด้วย เนื่องจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปส่วนใหญ่ห่อละประมาณ 60 กรัม หากกินหมดห่อจะได้รับโซเดียม 1,400 - 2,600 มิลลิกรัม ถ้าเป็นห่อใหญ่ขึ้น ปริมาณผงปรุงรสหรือเครื่องปรุงยิ่งเพิ่มมากขึ้นด้วย ตามขนาดผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณมากเกินความต้องการทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เพราะเมื่อร่างกายไม่สามารถกำจัดเกลือและน้ำส่วนเกินในร่างกาย จะทำให้เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่าง ๆ ทำให้แขน ขา บวม เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก และหากร่างกายไม่สามารถขับโซเดียมออกได้ทัน จะเกิดการสะสมในร่างกาย เสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง และเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หัวใจทำงานหนักขึ้น ทำให้เกิดหัวใจโตและหัวใจวายได้ในที่สุด

“ทั้งนี้ ไม่แนะนำกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างเดียวทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน สารอาหารหลักที่ได้รับจากการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คือคาร์โบไฮเดรต ไขมันอิ่มตัวและโซเดียม ไม่ควรกินดิบและบ่อย ควรต้มให้สุกอาจเพิ่มเนื้อสัตว์ ไข่ และผัก เพื่อได้สารอาหารครบถ้วน เลี่ยงเติมผงปรุงรสหมดซองและกินน้ำซุปหมดถ้วย และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ “ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ซึ่งไม่เพียงแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเท่านั้นที่ทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมเกินความจำเป็นต่อร่างกาย เครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา กะปิ เกลือ ซอสปรุงรส ซุปก้อน น้ำจิ้ม ยังแฝงโซเดียมในอาหารอื่นที่ไม่มีรสชาติ เช่น ผงชูรส  ผงฟู เป็นต้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว                                

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน