คุณกำลังมองหาอะไร?

K

KM ครั้งที่ 6 การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง กระบวนงานภายในสำนักโภชนาการ

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

08.11.2563
14
0
แชร์
08
พฤศจิกายน
2563

 

KM ครั้งที่ 6 การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง กระบวนงานภายในสำนักโภชนาการ

ช่วงวันที่ ๒๘-๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔ สำนักโภชนาการได้จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง กระบวนงานภายในสำนักโภชนาการ ให้กับนิสิตนักศึกษาฝึกประสบการณ์ สำนักฯ ปี ๕๔ จำนวน ๑๕ คน โดยเริ่มด้วยน้องนักศึกษาปี ๓ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นำเสนอความรู้เรื่อง กาแฟลดความอ้วน น่าสนใจมาก

3 วิทยากรสาวสวยจาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กำลังบรรยายเรื่อง กาแฟลดความอ้วน พอบรรยายเสร็จ ทุกคนก็แจ่มใสคลายเครียด ไม่ต้องลุ้นแล้ว

พี่ ๆ และเพื่อน ๆ ดูหายห่วงจริง ๆ นะ

 

พิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ น้องนักศึกษาที่มาฝึกประสบการณ์ ปู แนท จิ๋ว

ภาพถ่ายหมู่น้องนักศึกษาที่ฝึกประสบการณ์

 

วิทยากรจากกลุ่มอำนวยการ สำนักโภชนาการ นำโดยคุณโสภา วันทอง พี่แตงที่ใจดี มากับพี่มลและพี่กุ้ง

 

พี่ทั้งสามกำลังบรรยายเรื่อง งานสารบรรณ งานการเงินและบัญชี งานบุคลากร แถมด้วยเส้นทางมารับราชการ จากพี่ ๆ ที่น่ารักทั้งสามของสำนักฯ

 

งานนี้พี่ ๆ สำนักโภชนาการน่ารักมาก ให้ความเอ็นดูน้อง ๆ เจียดเวลามาให้ความรู้และให้การต้อนรับน้องอย่างอบอุ่นทุกกลุ่ม พี่แก้วขอทำหน้าที่คุณลิขิต หรือ Note Taker พร้อมกับการเป็นคุณอำนวย หรือ Modulator/Facilitator ไปพร้อม ๆ กับพี่หมายที่ส่งอาหารและน้ำดื่มให้ตลอดเวลาเลยนะคะ

ขอเริ่มเล่าเรื่องจาก กลุ่มอำนวยการ หรือกลุ่ม อก.พี่แตงมาเริ่มเล่าให้เห็นภาพการทำงานภาพรวม ว่ากลุ่มนี้ มีงานสารบรรณ พัสดุ บุคลากร การเงินและบัญชี การควบคุมระบบงบประมาณ ดูแลสถานที่ ยานพาหนะ เปรียบได้กับหัวใจของสำนักโภชนาการ กลุ่มนี้ทำงานแทบไม่หยุด และต้องสัมพันธ์กับทุกกลุ่ม ช่วยหล่อลื่นกลไกการทำงานของเราตลอดเวลา พี่มลมาบอกว่า การสื่อสารกันในระบบราชการต้องพึ่งกลไกของระบบสารบรรณ ซึ่งตราเป็นกฏหมาย เรียกพระราชบัญญัติระเบียบสารบรรณ ปี ๒๕๒๖ ดังนั้นเราจะเห็นหนังสือราชการมีรูปแบบที่ชัดเจน การพิมพ์ให้ถูกต้อง ภาษาไทยชัดเจน บอกเหตุ บอกวัตถุประสงค์ของการสื่อสาร จะช่วยให้การติดต่อประสานงานระหว่างกลุ่ม สำนัก/กอง กรม และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นไปด้วยความเข้าใจอันดี และหนังสือก็เป็นตัวแทนขององค์กร เพราะฉะนั้นต้องใส่ใจและพิถีพิถันเป็นพิเศษ ตามด้วยพี่กุ้งมาเล่าเรื่องการขออนุมัติไปราชการต่างจังหวัด การยืมเงินทดรองราชการ การเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้ถูกต้องตามระเบียบกระทรวงการคลัง รวมทั้งสวัสดิการค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารักษาพยาบาล ค่าเช่าบ้าน ฯลฯ ลงท้ายที่พี่มลพูดเรื่องความก้าวหน้าของการรับราชการ การเปลี่ยนจากระบบ ซี เป็นระบบ แท่ง ของตำแหน่งงานต่าง ๆ บัญชีเงินเดื่อน การประเมินเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือน หรือตำแหน่งที่สูงขึ้น พร้อมกับเพิ่มเติมความคิดเห็นเกี่ยวกับพนักงานราชการ ในปัจจุบัน ว่าถ้าต้องการความมั่นคงก็ควรไปสอบกพ. ภาค ก ไว้ เพื่อเวลาโอกาสมาจะได้สอบ ภาค ข หรือเฉพาะตำแหน่งได้ทันที ตรงนี้สังเกตน้อง ๆ ทุกคนตั้งใจเป็นพิเศษ ไม่มีอาการหาวเลย

ช่วงว่างพี่แก้วเตรียมหนัง Legally Blonde มา ๒ ภาค ให้ฝึกภาษาอังกฤษกัน น้อง ๆ ไม่ลุกไปไหนเลย สังเกต % fat ของทุกคนสูงขึ้นคนละ ๑-๒ % นะจะบอกให้
ตามมาด้วยกลุ่มบริหารยุทธศาสตร์ หรือกลุ่ม บย. นำทีมโดยหัวหน้ากลุ่ม และทุกคนตามมาเป็นทีมงานที่ใจดีและมาแบบอบอุ่นในช่วงหนาว ๆ พี่อวัตถ์ เตรียมการบรรยาย ตั้งแต่โครงสร้างกระทรวง กรมอนามัย และสำนักโภชนาการ ให้รายละเอียดแบบมานั่งทำงานได้เลย น้อง ๆ ได้รู้จัก กับ ๓๐ หน่วยงานของกรม ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค พร้อมกับอธิบาย หน้าที ของกลุ่มทั้ง ๗ ของสำนัก บรรยายภารกิจของสำนักโภชนาการแบบหาฟังที่ไหนไม่ได้ คือฉายภาพความละเอียด เพราะแกเขียนเองจนภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนผิดปกติไปพักหนึ่ง ภารกิจของสำนักฯ ได้ตราเป็นกฎหมายเรียกว่าพระราชกฤษฎีกา ไม่ทำจะผิดกม.นะครับ พี่เค้าบอกมา .....กลุ่มนี้เปรียบเหมือนสมอง เพราะต้องคิดต้องวางแผนตลอดทั้งปี น้องเบิร์ท มาเล่าเรื่องการจัดทำงบประมาณ ตั้งแต่การศึกษาทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข การจัดทำแผนปฏิบัติราชการ๔ ปีให้สอดคลองกับนโยบายรัฐบาล จนได้รับการจัดสรรงบประมาณมาที่สำนักฯ ปีนี้ได้ประมาณ ๑๑ ล้านบาท เยียม......จากนั้นก็ช่วยกันทำแผนงานโครงการตามยุทธศาสตร์โภชนาการของเราซึ่งผอ.ประกาศไว้ ๓ เรื่อง คือ คนไทยไร้พูง เพิ่มไอโอดีนเพิ่มไอคิว และการเจริญเติบโตเด็กไทย พร้อมกันนี้ก็มีระบบติดตามและประเมินผล หรือ M&E Monitoring and Evaluation System เช่น การจัดทำตัวชี้วัดระดับต่าง ๆ ติดตามผลตามตัวชี้วัด นำมาทำระบบรายงานผล หรือ Reporting System หรือเรียกกันต่าง ๆ นานา เช่น กพร. ใช้ว่า SAR CARD หรือ Self Assessment Report สำนักนโยบายและแผน ใช้คำว่า ระบบ ๑๘ แฟ้ม ๑๒ แฟ้ม เป็นต้น ในขณะเดียวกันในฐานะสำนักที่ทำงานด้านวิชาการ องค์ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็ไหลเข้ามาที่กลุ่ม บย.นี้ก็มีการจัดทำระบบสารสนเทศทางโภชนาการเข้ามาจัดการ เช่น NLIS ของพี่เก้ง น่าสนใจมาก เธอพัฒนาการรายงานผลที่เป็นตัวเลขให้เห็นเป็นแผนที่เชิงภูมิศาสตร์ รู้ว่าที่ใด จังหวัดใด ภาคใดของประเทศไทยยังคงมีปัญหาโภชนาการ พี่แก้วให้พี่แคร์ นำเสนอระบบเฝ้าระวังทางโภชนาการตามแผนที่ยุทธศาสตร์ทั้งสาม แต่กระพริบตาสองที พี่แคร์พูดจบแล้ว เลยขอเสริมเล็กน้อย ว่า เมื่อได้รวบรวมระบบรายงานต่าง ๆ จะเห็นสถานะของตัวชี้วัดต่าง ๆทางโภชนาการ เช่นการเจริญเติบโตเด็ก จะทราบว่ามีเด็กอ้วน เตี้ย ผอม กี่เปอร์เซนต์ แต่ละจังหวัดมีปัญหาระดับใด เมื่อคืนข้อมูลส่วนนี้กลับไปยังพื้นที่ที่รับผิดชอบงาน ก็จะได้รับการแก้ไขปัญหาทันที โดยมาตรการการแก้ไขปัญหา จะเป็นรูปแบบใดขึ้นกับกลวิธีการทำงานในแต่ละเรื่อง และต้องปรับให้เข้ากับบริบทของพื้นที่นั้น ๆ ในปีนี้น้อง ๆ จะเข้ามาเห็นเรื่องไอโอดีนชัดเจนมาก ทุกงานทั้งระบบรายงาน องค์ความรู้ เทคโนโลยี ด้านโภชนาการ มาตรการการดำเนินงานในพื้นที่ ตลอดจนข่าวสารความเคลื่อนไหวของงานโภชนาการระดับประเทศและต่างประเทศ จะได้น้องใหม่ นักคอม เคนนี่ ช่วยนำเสนอผ่านเว็บไซต์ และช่วยมาพัฒนาระบบ IT ทั้ง Intranet Internet ฯลฯ รวมทั้งจะช่วยน้อง ๆ Post งานของน้องขึ้นเว็บในส่วน Training Center ด้วยครับ

กลุ่มสร้างเสริมสุขภาวะโภชนาการ นำมาโดยพี่ตุ๊ สุจิตรา เล่าให้ฟังว่าเราดูแลประชากรทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่หญิงตั้งครรภ์ ทารกแรกเกิด เด็กวัยต่าง ๆ วัยทำงาน วัยสูงอายุ และดูแลคนไทยในท้องถิ่นทุรกันดาร ยุทธศาสตร์สำคัญของสำนักฯ ๒ เรื่อง อยู่ที่กลุ่มนี้ คือ คนไทยไร้พุง และการเจริญเติบโตเด็ก โดยคนไทยไร้พุงจะดูแลคนอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป เทคโนโลยีสำคัญคือ ๓ อ. การวัดรอบเอว การวัดปริมาณไขมันด้วยเครื่อง INBODY การเต้นฮูล่าฮูป การกินอาหาร สัดส่วน ๒:๑:๑ DPAC หรือ Diet Physical Activity Clinic รวมทั้ง DPAS หรือ Diet Physical Activity Strategy หารายละเอียดต่อที่กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพนะ นอกจากนี้พี่ตุ๊ยังเล่าว่าอาหารที่ใส่บาตรพระเราก็มีเทคนิคดูแลให้พระมีภาวะโภชนาการที่ดีด้วย ส่วนเรื่องการเจริญเติบโต พี่วรรณได้นำกราฟการเจริญเติบโตมาอธิบายอย่างละเอียด สอนให้ดูแนวโน้มการเจริญเติบโตของเด็ก การติดตามการเจริญเติบโต หรือ Growth Monitoring การให้อาหารที่เหมาะสมกับภาวะโภชนาการของเด็ก เช่นการเติบโตด้านความสูงต้องสนใจอาหารที่เป็นแหล่ง แคลเซียม จัดให้เหมาะสมนะคะ Ca:P ratio ต้อง 1:1 นะ เป็นต้น พอฟังเสร็จเห็นน้องย่องไปวัดไขมัน และแอบอ่านผล อ่านเสร็จเก็บไม่ยอมให้เพื่อนดูเลยชิมิ ชิมิ น้องโบ๊ต น้องอ้อม น้องสา.....กลุ่มควบคุมป้องกันด้านโภชนาการ หมอป้อมของเราได้มาให้ความรู้น้อง ๆ พี่โอ๋ พี่เจี๊ยบ และกลุ่มพัฒนาพฤติกรรมโภชนาการ พี่ตุ๊ก ได้เข้ามาช่วยกันพูดมากมาย แต่พี่ขออภัย เผอิญมีน้องไม่สบาย ส่งโรงพยาบาลเลยต้องไปดูแลน้องก่อน......รอผู้หวังดี มาช่วยสรุปให้ ขอบคุณล่วงหน้านะค่ะ

กลุ่มโภชนาการประยุกต์ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหม่ งานทันสมัย นำมาโดยพี่ณัฎ และทุกคนในกลุ่ม เริ่มที่พี่ณัฎ เล่าเรื่องภารกิจของกลุ่ม ที่น่าสนใจมาก ๆ คือเรื่องโภชนาการในยามมีภัยพิบัติ ทุกคนฟังแบบตาไม่กระพริบเลย การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ในยามฉุกเฉิน สำคัญมาก ๆ น้อง ๆ หลายคนเดินมาขอเข้าไป attend กลุ่มนี้ก่อนกลับกันเป็นแถว งานสมุนไพรไทยก็น่าสนใจ ต่อมาพี่พั้งค์มาเล่าเรื่อง การสำรวจปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มต่าง ๆ ที่ขายในโรงเรียน เพื่อให้ปริมาณน้ำตาลที่เข้าสู่ร่างกายของนักเรียนไม่มากเกิน ดีจัง พี่แมวคนใจดีและน่ารัก ได้มาให้ประสบการณ์มากมายที่ตัวเองได้ทำด้วยตนเองมาตลอดเวลาของการรับราชการ เช่นอาหารมังสวิรัติ การกินข้าวกล้อง การทำงานในกองหรือสำนักโภชนาการ สังเกตเล่าด้วยความสุข สายตามีเมตตาและคงอยากชวนน้อง ๆ ให้มาปฏิบัติตนแบบพี่แมวด้วยกระมัง......น่าสนใจนะคะ พี่แมวแข็งแรงทั้งกายและใจในแบบฉบับของตนเอง น่าศึกษา.....พี่บิ๋มและพี่ก้อ มาฉายภาพยนตร์ให้เห็นการที่เซลล์ในร่างกาย เปลี่ยนแปลงไปจนเป็นเซลล์มะเร็ง และให้เห็นความสำคัญของการทำงานของ สารต้านอนุมูลอิสระ พร้อมกับเล่าเรื่องเทคนิคการตรวจหาสารต้านอนุมูลอิสระ ทางห้องปฏิบัติการ เธอเลือกวิธีที่ชื่อว่า ORAC ในการตรวจวิเคราะห์หา antioxidant ในอาหารที่ผู้สูงอายุสุขภาพดี นิยมบริโภค งานนี้น้องๆ ได้เข้าไปช่วยเก็บข้อมูล และ Key แบบสอบถาม น่าสนใจมาก ๆ ปิดท้ายด้วยเรื่องน่าสนใจและเป็นนโยบายของ รมต. ขณะนี้คือเรื่อง ลดหวานมันเค็ม พี่แขกได้มาเล่ารายละเอียดและแจกขนมที่มี logo นี้ น้องนุชติดใจมาขอเพิ่มค่ะ พี่แขกได้เล่าเรื่อง การให้สีป้ายจราจร เขียว เหลือง แดง ในผลิตภัณฑ์อาหารในท้องตลาด และนำเรื่องนี้เข้าเป็นนโยบายสาธารณะ เสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. ที่จะมีบทบาทมากขึ้นในสังคมไทยในอนาคต

กลุ่มวิจัยอาหารเพื่อโภชนาการ กลุ่มนี้นำทีมมาโดยพี่นัน และทีมงานทุกคนเข้มแข็งมาก ต้องขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ สมกับที่น้อง ๆ อยากมาฝึกงานที่กลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่ พี่ ๆ ใจดีพร้อมให้ความรู้และฝึกงานให้ทุกปีอย่างสม่ำเสมอ เริ่มด้วยพี่นันเล่าเรื่องภาพรวมของกลุ่ม ว่ามีงานวิเคราะห์ด้านต่าง ๆ ปีนี้เรื่องสำคัญคือการตรวจ urinary iodine ของหญิงตั้งครรภ์ ตั้งแต่ตรวงเองจนเป็นศูนย์ฝึกอบรมให้ศูนย์อนามัยเขตเข้ามาเรียนรู้ จากนั้นพี่ต๋อมแต๋มเล่าเรื่องการเตรียมตัวอย่างอาหาร นำ moistureออก ซึ่งการเริ่มต้นส่วนนี้มีความสำคัญมาก เพือให้ทุกคนนำไปวิเคราะห์ และคำนวณย้อนกลับได้เที่ยงตรง ตามมาด้วยพี่ปิ เล่าเรื่องการไปเก็บตัวอย่างภาคต่าง ๆ การวิจัยเรื่องน้ำตาลในขนมไทยจังหวัดต่าง ๆ น้องเดียร์ ทำเรื่องแมกนีเซียมและสังกะสี น่าสนใจมาก หาอ่านได้บนเว็บนี้ค่ะ ต่อด้วยแจง ทำการศึกษาเรื่องการหาน้ำตาลในเครื่องดื่มในโรงเรียน เปรียบเทียบผลจากวิธี HPLC และการใช้ Refractometer น่าสนใจและเป็นประโยชน์มาก ๆ ทีเดียว ปิดท้ายด้วยน้องเก๋นำผลการหาไอโอดีนในอาหารประเภทต่าง ๆ มาให้ดู ดีมาก ๆ กลุ่มนี้ผลงานมากมาย และได้นำเสนอบนเว็บไซต์แล้ว ขอบคุณแทนประชาชน กับความตั้งใจทำงานของทีมงานนี้ค่ะ

วันต่อมาได้พาน้องเข้าชมพิพิธภัณฑ์สำนักโภชนาการ ที่ห้องศูนย์สารนิเทศอมร นนทสุต ได้เห็นวิวัฒนาการการทำงานด้านโภชนาการของประเทศตั้งแต่ปี ๒๔๘๒ ตั้งแต่ยุคที่คนในหมู่บ้านภาคเหนือ เป็นคอพอกกันทั้งชุมชน อัตราเด็กขาดสารอาหาร เกิน ๕๐% การใช้มาตรการ อาหารหลัก ๕ หมู่ เกลือเสริมไอโอดีน น้ำเสริมไอโอดีน ตลอดจน นมแม่ อาหารเสริมทารก ข้าว ถั่ว งา อาหารกลางวันในโรงเรียน ธงโภชนาการ ตารางแสดงคุณค่าอาหารในส่วนที่กินได้ ๑๐๐ กรัม ฯลฯ เครื่องไม้เครื่องมือ เก่า ๆ มากมาย รูปจำลองอาหาร ไทย จากนั้น พี่เคนช่วยพาน้องไปชม กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ สำนักอนามัยเจริญพันธ์ กรมต่าง ๆ ในกระทรวงสาธารณสุข สังเกตพอกลับมา นักศึกษาทุกคนหุ่นเริ่มดีเหมือนเดิม อาจเป็นเพราะพี่ ๆ กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพช่วยสอนคีตมวยไทยให้ตอนบ่าย ๆ ก็ได้นะคะ

พี่ ๆ ขอขอบคุณ ทุกมหาวิทยาลัยที่ส่ง น้อง ๆ มาร่วมเป็นทีมงานของสำนักโภชนาการและขอบคุณน้อง ทุกคนที่มาใช้เวลาทุกวินาที และรวมถึงมาใช้ทรัพยากรอันมีค่าทุกชิ้นของเราเพื่อพัฒนาตนเอง ให้พร้อมเข้าสู่สังคมของคนทำงานในอนาคตอันใกล้นี้ค่ะ

ตั้งใจกันนะคะ และขอให้ทุกคนเป็นเด็กดี มีความสุข สุขภาพกายและใจดี นำความภาคภูมิใจให้ครอบครัวของทุกคนนะคะ

 

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง

บทบาทหน้าที่ของ Lab.pdf
ขนาดไฟล์ 126KB
ดาวน์โหลด 0 ครั้ง
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน