คุณกำลังมองหาอะไร?

กา

การเติบโตของต้นไม้โภชนาการในประเทศไทย บรรยายโดย นายแพทย์อมร นนทสุต เรียบเรียงโดย แพทย์หญิงแสงโสม สีนะวัฒน์ วารสารการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

29.05.2560
78
1
แชร์
29
พ.ค.
2560

การเติบโตของต้นไม้โภชนาการในประเทศไทย บรรยายโดย นายแพทย์อมร นนทสุต เรียบเรียงโดย แพทย์หญิงแสงโสม สีนะวัฒน์ วารสารการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม



การเติบโตของต้นไม้โภชนาการในประเทศไทย
 
บรรยายโดย นายแพทย์อมร นนทสุต  เรียบเรียงโดย แพทย์หญิงแสงโสม สีนะวัฒน์

จากวารสาร การส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม
THAILAND JOURNAL OF HEALTH PROMOTION AND ENVIRONMENTAL ปีที่ 21 ฉบับที่ 1 มกราคม - มีนาคม 2541

ความเป็นมา

นายแพทย์อมร นนทสุต อดีตผู้อำนวยการกองโภชนาการ อดีตอธิบดีกรมอนามัย และปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับเชิญจากกองโภชนาการ มาร่วมงาน รำลึกพระคุณ เกื้อหนุนโภชนาการ ซึ่งกองโภชนาากรได้จัดขึ้นในวันที่ 27 กันยายน 2539 ท่านได้กรุณาบรรยายเรื่อง การเติบโตของต้นไม้โภชนาการ ในประเทศไทย ณ ห้องประชุม กำธร สุวรรณกิจ กรมอนามัย ในวันเดียวกัน โดยกล่างถึงวิวัฒนาการ งานโภชนาการตั้งแต่แรกเริ่ม และยังคงได้แสดงวิสัยทัศน์ และข้อคิดเห็น สำหรับการดเนินงานในอนาคตอีกด้วย กองโภชนาการเห็นว่า การบรรยายของท่านครั้งนั้น เป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนางานโภชนาการ ในปัจจุบันและอนาคต จึงได้ขออนุญาตท่าน นำข้อความจากการบรรยายมาแสดงไว้ ฯ ที่นี้
 
เริ่มต้น เมื่อปี พ.ศ.2482 เท่าที่สืบประวัติ ได้ปรากฎว่า เหตุสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้น คือ การส่งคนไปศึกษาทางโภชนาการ เมื่อกลับมาแล้ว จึงมีการพัฒนาเรื่องนี้ เหมือนเพาะเมล็ดเกิดต้นไม้ขึ้น โดยมี อาจารย์ยง ชุติมา กับ อาจารย์อุทัย พิศลยบุตร 2 ท่านนี้ เปรียบเหมือนใบเลี้ยงคู่แรก ได้อาศัยใบเลี้ยงคู่แรกนี้ก่อกำเนิดงานโภชนาการ จนเจริญเติบโตถึงทุกวันนี้
หลังใบเลี้ยง ก็เกิดยอดอ่อนครั้งแรก คือ มีเรื่อง โภชนศึกษา และโภชนศาสตร์ เกิดขึ้น มี 2 ท่าน เป็นต้นกำเนิด ประกอบกับท่าน นายแพทย์กำธร สุวรรณกิจ ผู้ทำปริญญาด้านนี้มาโดยตรง ท่านทั้ง 3 คือ ต้นกำเนิดของต้นไม่โภชนาการในประเทศไทย
ต้นไม้โภชนาการเริ่มหยั่งราก ผลิใบใหม่ๆ ได้แก่ นักวิชาการที่ได้รับความรู้ จากการศึกษาโภชนศาสตร์ ดังนั้น ตั้งแต่พบว่า มีกิ่งแรกงอกออกมา จึงเป็นสายเทคโนโลยี กิจกรรมด้านนี้ต่อมาได้แยกออกเป็น 2 สาย สายแรกเป็นสายเทคโนโลยีที่เหมาะสม (ชาวบ้านใช้ได้) สายที่ 2 เป็นเทคโนโลนีชั้นสูง ซึ่งต้องอาศัยกำลังคนด้านโภชนาการ ในช่วงเวลา 15 ปีแรก ได้มีการผลิตกำลังคนจากด้านมหาวิทยาลัย เช่น คณะสาธารณสุขศษสตร์ ผลิตนักโภชนาการขึ้น นักวิชาการเหล่านี้ได้ผลักดัน งานด้านเทคโนโลยีเป็นส่วนมาก กองโภชนาการในระยะแรก จึงเน้นหนักทางด้านนั้น เช่น มีการสำรวจทางโภชนาการเกิดขึ้น มีการสร้าง Food Table สรุปว่า ในช่วงแรกสิ่งที่ทำให้เกิดกิจกรรมเหล่านี้ คือ ทุนการศึกษาต่างๆ โดยทุนการศึกษาเหล่านี้ อาศัยองค์การระหว่างประเทศ เป็นตัวเชื้อทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ขึ้น ต่อมา จึงมีการสร้างสถาบันการศึกษา ทางโภชนาการขึ้นในประเทศ เช่น คณะสาธารณสุขศาสตร์ สถาบันวิจัยโภชนาการ ทั้งหมดได้อาศัยกำลังคนที่ผลิตจากต่างประเทศเป็นผู้ก่อตั้ง นักวิชาการโภชนาการที่ผลิตได้เหล่านั้น ก็ได้รับอัตรา และบรรจุไว้ที่กองโภชนาการ ที่ส่วนกลางเป็นส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมด
จึงมีคำถามว่า ทำไม่ไม่มีนักโภชนาการอยู่ในต่างจังหวัด โรงพยาบาลเหมือนงานอื่นๆ เช่น สุขาภิบาล ตอบว่า สมัยนั้นยังไม่เห็นประโยชน์อะไรมากนัก ที่เอาคนผลิตยากๆ ไปอยู่ตรงนั้น แต่ในที่สุด พบว่า เพราะว่างานโภชนาการเป็นงานเทคโนโลยี ที่เราต้องนำไปประยุกต์ เมื่อนักวิชการขาดประสบการณ์ภาคสนาม จึงทำให้ลงไปในหมู่บ้านลำบาก
ดังนั้น ทัศนคติที่ว่า งานโภชนาการเป็นงานของกองโภชนาการ จึงเป็นสิ่งที่ผู้บรรยายไม่เห็นด้วย ไม่อยากเห็นงานโภชนาการพัฒนาเป็นแนวดิ่ง ลงถึงหมู่บ้านโดยตรง แต่ควรเป็นงานของสถานีอนามัย ซึ่งต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ระดับตำบล ให้ได้เรียนรู้เรื่องโภชนาการด้วย อย่างไรก็ดี ผลที่เกิดจากงานของนักวิชาการ ก็ทำให้เกิดพุ่มใบแรกของต้นไม้โภชนาการขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งน้ำเลี้ยงไปเกิดกิ่งใบใหม่มากขึ้น ภายใต้พุ่มใบแรก การสร้าง Food Table การสำรวจทางโภชนาการ การเคลือบวิตามินที่ข้าว (ข้าวกระยาทิพย์) การเสริมไลซีนในข้าว (ด้วยความร่วมมือกับอายิโนะโมะโต๊ะ) ต่อมางานทั้งสองนี้ไม่ประสบความสำเร็จ
การผลิตโปรตีนเกษตร งานนี้สำเร็จ ติดตลาดพอสมควร มีการใช้ในอาหารมังสวิรัตมาจนทุกวันนี้ งานนี้ร่วมมือกับ อาจารย์อมร ภูมิรัตน์ จากสถาบันเทคโนโลยีอาหาร ของมหาวิทยาลัยเกษตรฯ สมัยนั้น
การทำน้ำมันตับปลามีโรงงานที่บ้านเพ จังหวัดระยอง อาจารย์อุทัย พิศลยบุตร เป็นผู้ดำเนินการ ผลิตแคปซูลส่งไปโรงพยาบาล สถานีอนามัย ในระยะนั้น เพื่อประโยชน์ในงานอนามัยแม่และเด็ก
การทำเกลือไอโอดีน ครั้งแรกนั้นเป็นเม็กโปแตสเซี่ยมไอโอไดด์ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ชาวบ้านมักลืมกิน เวลาฝนตกก็ชื้น การขนส่งไม่สม่ำเสมอ กิจกรรมสิ้นสุดอยู่ที่สถานีอนามัย ไม่มีการกระจายถึงผู้ที่ต้องการ ในที่สุด หันมาที่เกลือพ่นด้วยโปแตสเซียมไอโอเดต ซึ่งทนความชื้น มีการศึกษาที่จังหวัดแพร่ จนรู้ว่า ในดินในน้ำมีธาตุไอโอดีนน้อย ในชั้นแรกจึงกำหนดให้เสริมไอโอดีนในอัตราส่วย 1:20,000 และสมัยนั้นพบคอพอกมาก จึงตั้งเป้าหมายการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน คือ ลดอัตราคอพอกให้เหลือไม่เกินร้อยละ 30 เพราะถ้าอัตราคอพอกในเด็กนักเรียนเกินร้อยละ 30 จะเกิดเกรด 2 ที่แก้ด้วยเกลือเสริมไอโอดีนไม่ยุบหมด เป็นแล้วต้องผ่าตัด ในสมัยนั้น เราอาศัยพ่อค้าเกลือ ("ซุ่นบั๊ก") เป็นผู้ผสมไอโอดีนลงในเกลือชาวเขา ที่ส่งไปทางภาคเหนือ
สำหรับเกลือ หรือน้ำปลาเสริมเหล็ก เคยทดลองทำกัน แต่ไม่สำเร็จ ขณะนี้ผู้บรรยายคิดเสริมเหล็ก วิตามินเอ และไอโอดีนในกล้วยอบ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างทดลอง หากสำเร็จจะพยายามครอบคลุมแม่และเด็ก ให้ได้มากที่สุด โดยผ่านระบบร้านค้าเช่นเดียวกับเกลืออนามัย
การผลิตโปรตีนจากพืช (Phytoproteing) ก้เคยคิดกับ อาจารย์อมร ภูมิรัตน์ แนะแนวว่า เอา "ผำ" (สาหร่ายเม็ดเล็กสีเขียว) ที่ชาวบ้านทางภาคเหนือกิน มาทดลองแยกโปรตีนดู ต่อมาทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำการวิจัย ปรากฎผลว่า ทำให้กรดยูริคในปัสสาวะมีระดับสูงขึ้น เลยระงับความคิดไว้
การพัฒนาอีกสายหนึ่ง คือ เทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับชาวบ้าน เราสร้าง หรือสนับสนุนมาตั้งแต่สมัย นายแพทย์ยง เช่น การหุงข้าวไม่เช้ดน้ำ การใช้ข้าวซ้อมมือ ต่อมามีตำรับอาหารต่างๆ ที่ทางกองผลิตออกไป
การทำนมถั่วเหลือง เราทำแล้วไม่กระจายแพร่หลาย เนื่องจากเราเป็นนักเทคนิค เมื่องานเข้าขั้นเป็นอุตสาหกรรมเข้าไป เราก็หมดความสามารถ เมื่อทำแล้วก็ไม่ไปถึงไหน ใช้เวลาไปประมาณ 30 ปี ตั้งแต่ก่อตั้งกองฯ มา คือ เมื่อเข้าแผนฯ 4 ปี (2540-2544) เป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอันหนึ่ง ซึ่งเราเริ่มเรียนรู้ว่า การจะเอา Technology ไปประยุกต์นั้น ต้องการมากกว่าความรู้ทางโภชนาการ แต่เราต้องมีองค์ประกอบอื่น ได้แก่
  1. ต้องอาศัยคนนอกวงการที่มีความเชี่ยวชาญหลายๆ ทาง
  2. ประชาชนต้องยอมรับ มิฉะนั้นว่า การให้โภชนศึกษาจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นการประยุกต์งานดภชนาการในชุมชนระยะแรก สมัยท่านอธิบดีกำธร เป็นอธิบดีกรมอนามัย ได้ประยุกต์งานโภชนาการเข้าในหมู่บ้าน ผ่านกระทรวงต่างๆ เช่น ศึกษา มหาดไทย เกษตร สาธารณสุขเรียก "โครงการโภชนาการประยุกต์" โดยทำที่จังหวัดอุบลราชธานี
เมื่อปี 2502 โภชนาการประยุกต์ มี FAO สนับสนุน เราพยายามสร้าง สูตรข้าวผสมถั่ว แล้วเอาเทคโนโลยีไปเผยแพร่ในหมู่บ้าน โดยการประสานงานระหว่างสาขา แต่งานโภชนาการประยุกต์ก็ไม่โต เราเรียนรู้ต่อมาว่า ความร่วมมือระหว่างสาขา ต้องเริ่มที่นโยบาย ถ้าจะเอาจริงจังต้องเป็นระดับบน
เพราะว่าการร่วมมือระหว่างสาขาระยะแรกล้มเหลว โดยเหตุที่ว่า ไม่ได้สร้างแนวร่วมของคน นอกสายสาธารณสุข ต่อมาจึงมีการหาทุนส่งคนนอกไปศึกษา วิชาโภชนาการหลักสูตรสั้นๆ การได้แนวร่วม ทำให้เราสามารถพัฒนาหลักสูตร สร้างคู่มือ สร้างงานโภชนาการในกระทรวงศึกษา และสถาบัน นอกกระทรวงสาธารณสุข มีอาจารย์ได้ช่วยกันสร้างงานโภชนาการ สร้างหลักสูตร มีการพัฒนาคู่มือขึ้นมา เป็นลำดับ
บัดนี้ ต้นไม่โภชนาการได้เติบโตมา ถึงคบที่ 2 ตรงที่จะแยกเป็นคบที่ 2 (คบแรกเป็นงาน Lab) เป็นระยะของแผนพัฒนาโภชนาการแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2520) งานได้แตกเป็น 2 สาย สายแรก คือ ว่าด้วยการประสานงาน มีการเห็นความสำคัญของการประสานงาน นอกกระทรวง และการวางแผนสาธารณสุขระดับประเทศ มีการหาทุน ส่งเจ้าหน้าที่ของสภาพัฒน์ฯ ไปเรียนโภชนาการหลักสูตรสั้น ที่สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ ขอย้ำว่า ทุนการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญมาก แล้วจะได้ประโยช์ระยะยาว ตามที่เห็นจากประวัติที่กล่าวแล้ว การลงทุนระยะยาวจะได้ผลระยะยาว
สายที่ 2 ว่าด้วยการสร้างกำลังคนเข้าเสริมงานโภชนาการ ในขณะที่เราทำแผนโภชนาการปี 2520 เราก็ทำแผนสาธารณสุขแห่งชาติ มีการเปลี่ยนแนวคิด สร้างอาสาสมัครสาธารณสุขขึ้น ในงานสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งต่อมาพัฒนาไปเป็น งานส่งเสริมคุณภาพชีวิต ด้วยความจำเป็นพื้นฐาน เราบรรจุเครื่องชี้วัดโภชนา การเป็นส่วนหนึ่งของความจำเป็นขั้นพื้นฐาน งาน จปฐ. นั้น ได้ใช้เป็นศูนย์กลางความร่วมมือ ระหว่างสาขา ทำให้งานโภชนาการเป็นส่วนหนึ่งของสถิติชีพ ของประเทศ และเข้าไปอยู่ในแผนสภาพัฒน์ฯ ในที่สุด สรุปว่า ได้มีการสร้างกลุ่มที่มีความคิดเห็นตรงกัน จนมีจำนวนมากพอ จึงจะพลิกผันสถานการณ์ได้ (Advocacy building)
เมื่อได้รับความร่วมมือระหว่างสาขา มีเทคโนโลยีพร้อม ก็มีโครงการต่างๆ เกิดขึ้น และประสบความสำเร็จมากขึ้น เช่น โครงการควบคุมโรคคอพอก มีความร่วมมือกับเอกชน พ่อค้าเกลือ มีโครงการอุตสาหกรรมอาหารสุขภาพ เป็นผลพลอยได้ การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารให้แนวคิด สิ่งใดที่เราทำทางด้าน Food Technology สิ่งที่จะต้องทำต่อไป คือ การเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม ต่างฝ่ายต่างป้อนข้อมูลให้กันได้ เช่น ความต้องการของผู้บริโภค อุตสาหกรรมจะเป็นผู้บอกได้ดี ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีอาหาร อยู่ในแนวทางที่สามารถประยุกต์ได้
โครงการสมเด็จพระเทพฯ เกิดขึ้นระยะหลัง ทั้งหมดเจริญเติบโตเป็นกิ่งก้าน ด้วยความร่วมมือระหว่างสาขาเป็นสำคัญ
เมื่อมาถึงขั้นนี้ เมื่อการครอบคลุมของ อสม. มากพอ โครงการอีกประเภทที่เกิดขึ้น ได้แก่ โครงการครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานอยู่พร้อมแล้ว ต้นไม่โภชนาการจึงเกิดกิ่งใหม่ คือ โครงการสำรวจชั่งน้ำหนัก เด็กวัยก่อนเรียนทั่วประเทศ หลังจากนั้น จึงนำแนวคิดสาธารณสุขมูลฐาน ประสานงานกับโภชนาการ หรือเปลี่ยนกลยุทธ์งานโภชนาการ โดยประยุกต์ใช้หลักสาธารณสุขมูลฐาน จึงสามารถสร้าง โครงการกวาดล้าง โรคขาดสารโปรตีน และกำลังงานทั่วประเทศได้สำเร็จในเวลาต่อมา
ระยะหลังมีโครงการขจัดโรคขาดสารไอโอดีน มีการตั้งเป้าหมายใหม่ หวังกวาดล้างทั่วประเทศเช่นเดียวกัน เป็นวิวัฒนาการอย่างหนึ่ง ซึ่งอาศัยกิ่งสำคัญ อย่างไรก็ดี เมื่อปัญหาถูกขจัดให้เบาบางไปแล้ว มีการมอบอำนาจให้ชุมชนดูแลอย่างต่อเนื่อง และได้เปลี่ยน Strategy เป็นสวัสดิการ คือ แจกนม ด้วยเห็นว่าเมื่อปัญหาลดลง ก็เป็นธรรมดาที่ชุมชนจะหันไปสนใจเรื่องอื่น จึงได้มีการเปลี่ยนแนวความคิด จากความร่วมมือเป็นแนวคิดด้านสวัสดิการ เพราะว่า ปัญหาเปลี่ยนแปลงลดน้อยลงแล้ว การหาความร่วมมือจากชุมชนได้ยาก แต่การใช้ระบบสวัสดิการนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถ ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นแกนของปัญหา ที่หลงเหลืออยู่ ซึ่งอาจไม่ง่ายนัก ในระบบสาธารณสุขมูลฐาน ในปัจจุบันที่ใช้กันอยู่
บัดนี้ เรากำลังมาถึงจุดที่บรายากาศการเมือง ต้องการมอบอำนาจให้ประชาชนยืนได้เอง งานที่จะต้องพัฒนาเพื่อให้เกิดกิ่งก้านสาขาใหม่ขึ้น คือ งานเฝ้าระวังโดยชุมชน ทำให้อยู่ในระบบปกติของชาวบ้านให้ได้ เพราะว่า ปัญหาในสังคม รวมทั้งโภชนาการ จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ดังนั้น ชาวบ้านต้องวินิจฉัยเป็น โดยเฉพาะยุคโลกภิวัฒน์แล้ว แก้ได้เองเป็นอัตโนมัติ โดยไม่ต้องรอ
ดังนั้น ในขณะนี้ถ้าเรามองให้ดี จะเห็นงานที่เกี่ยวกับการบริหารส่วนตำบล เริ่มมีตุ่มงอก พร้อมที่จะเป็นกิ่งก้านสาขาใหญ่ต่อไป กิ่งนี้ยังไม่แตกดี แต่มองเห็นว่าจะเป็นกิ่งถาวรอยู่ตรงยอด กิ่งที่เป็นส่วนของ อสม. เติบโต ก็จะถึงจุดสิ้นสุด (อสม. ยังถือว่าเป็นคนของเรา) จะให้โตไปอีกต้องไปผูกกับ อบต. อบต.จะมีบทบาททางโภชนาการ แน่นอนในวันข้างหน้า ดังนั้น หนทางข้างหน้าทำอย่างไร ถึงจะส่งน้ำเลี้ยงจากลำต้น ไปยังยอดที่จะเป็นงานโภชนาการ โดย อบต. ได้
เราอาาจสร้างความร่วมมือ โดยเริ่มที่ อสม. เพราะอยู่ในระบบ อบต. ไม่น้อย อย่างไรก็ดี เห็นสะพานที่เข้าถึง อบต. มีอยู่ เทคโนโลยีก็มีอยู่ แต่คนที่จะส่งให้ยังมีปัญหา คนเหล่านี้คือ กลุ่มที่อยู่ในสถานีอนามัย โรงพยาบาล พวกนี้เป็นหุ้นส่วน หรืออาจจะมีกลุ่มสนใจอื่นๆ ซึ่งจะเป็นตัวละครเกิดใหม่ในอนาคตข้างหน้า ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ ได้มีเวทีถ่ายทอด วางแผนร่วมกัน ให้งานโภชนาการไปเป็นของ อบต. และเป็นส่วนของแผนพัฒนาตำบลในที่สุด
ด้วยเหตุนี้ จึงมองเห็นว่า ควรมีการฝึกอบรม งานโภชนาการประยุกต์ให้กับ อบต. ซึ่งควรได้รับความรู้ทางโภชนาการ และการวางแผนงานโภชนาการด้วย นอกจากนั้น ต้องสามารถใช้การประสานงานระหว่างสาขาด้วย โครงการอีกประเภทในวันข้างหน้า ได้แก่ "โครงการปิดช่องว่าง" หรือการแก้ปัญหาของ hard core ที่หลงเหลืออยู่ เป็นจุดใหญ่ที่น่าจะพัฒนา จะทำให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด เช่น เจาะให้ได้ว่า ปัญหาคอพอกอยู่ตรงไหน ที่เหลือเป็น Pocket แล้ว จึงใส่งานเข้าไปตรงนั้นให้ตรงเป้าที่สุด
เพื่อให้ถึงกลุ่มเสี่ยงที่ยังเป็นช่องว่าง ของสังคมอยู่นี้ เราต้องมีข้อมูลวิธีทำระเบียนรายงาน น่าจะทบทวนใหม่
กลุ่มที่มีปัญหาโภชนาการ ที่เป็น hard core มักจะไม่ใช่มีปัญหาโภชนาการอยู่อย่างเดียว มีปัญหาทุกอย่าง เป็น high risk group ของสังคม การแก้ปัญาจึงควรเป็นแบบบูรณาการ จะทำให้เกิดประโยชน์แก่กลุ่มพวกนี้
อีกข้อหนึ่งที่น่าจะพิจารณา คือ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคม ของเราไปสู่สังคมผู้บริโภค สิ่งที่ควรพิจารณาคือ ทำอย่างไร ถึงจะทำให้คนไทยมีอาวุธด้านความรู้ สามารถในการวิเคราะห์ สามารถเลือกซื้อหาสิ่งต่างๆ มาบริโภคอย่างมีคุณภาพ
ภาพที่ไม่มีอยู่บ้านผลิตอาหารต้องซื้ออาหารถุง จะเป็นแหล่งของการปนเปื้อน และไม่มีคุณค่า ทำอย่างไรกับกลุ่มที่ผลิต และแพร่กระจายอาหารเหล่านี้ อุตสาหกรรมอาหารจะมีบทบาท ในงานทางด้านโภชนาการมาก เราควรมีส่วนในวงจรการผลิต เพื่อการบริโภคด้วย เรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคต
เกี่ยวเนื่องกันคือ ทำอย่างไรจึงจะมีบริการทางห้องปฏิบัติการ ด้านอาหารและโภชนาการ ปัจจุบัย ห้องอาหารไม่กระจายตัวใกล้ชาวบ้าน ชาวบ้านไม่มีโอกาสใช้ ทำให้ขาดอำนาจในการวิเคราะห์ จึงน่าจะถึงเวลาที่จะแพร่ขยายห้องปฏิบัติการ มีการพัฒนาเทคโนโลยีง่าย พอที่จะทำได้ในสถานีอนามัย เพื่อให้ห้องปฏิบัติการแพร่กระจาย ไปอยู่ใกล้ชุมชนที่สุด
ข้อสุดท้ายที่จะพูดถึง ก็คือ
  1. การใช้ทรัพยากรมนุษย์ ทำอย่างไร จึงจะให้งานสำเร็จได้ โดยใช้ทรัพยากรมนุษย์คุ้มค่ามากที่สุด เช่น สร้างแนวร่วมในการทำงาน เพราะงานโภชนาการไม่ยากที่คนจะทำไปได้ เช่น ระดับ อสม./อบต.
  2. เรื่องของการใช้เทคโนโลยีต่างๆ มีทั้งแพงและถูก ถ้าทำให้ได้ผลดีที่สุด คือ ใช้เทคโนโลยีถูกที่สุด และเจาะให้ตรงเป้าหมาย แต่ถ้าจะใช้เทคโนโลยีสูง ซึ่งได้ผลไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด ก็ยังพอรับได้
  3. การเข้าถึงกลุ่มที่มีปัญหาให้ได้ เช่น PEM เจาะให้ถึงระดับ 3 หาตัวออกมาให้ได้ชัดๆ พยายามอย่างคลุมเครือ
  4. เรื่องของการส่งกำลังบำรุง เป็นเรื่องที่ทำให้ปลาตายน้ำตื้นมามาก
  5. เรื่องสารสนเทศ สมัย Computer ควรนำมาพิจารณา ถ้าทำให้เกิด Cost effectiveness ก็น่าจะลงทุน
  6. เรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรมสังคม ที่ชอบกินอาหารขยะกันมากขึ้น

ส่งท้าย

เรื่องของงานโภชนาการในอนาคต มีที่แก้อยู่มาก กลยุทธ์เก่าที่เคยใช้ ควรทบทวนให้หมด ยกเลิก หรือเปลี่ยนเอาองค์ประกอบใหม่ๆ เพิ่มเข้าไปทุก 5 ปี ควรจะปรับเปลี่ยนสักครั้งหนึ่ง มิฉะนั้น จะไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม อยากจะขอสรุปดังนี้
  1. กระจายอำนาจ อย่าหวงไว้
  2. ปิดช่องว่างงานโภชนาการ ที่คนบางกลุ่มควรได้รับ แต่ยังไม่ได้รับ
  3. เข้าให้ถึงกลุ่มเสี่ยงสูง
  4. คำนึงถึงประสิทธิผลคุ้มค่า
  5. สนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเศรษฐกิจ
  6. มีความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ และทำนายอนาคตได้พอควร
 
 
 
 
 
 
 

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน