คุณกำลังมองหาอะไร?

1

14 มิถุนายน วันผู้บริจาคโลหิตโลก (World Blood Donor Day)

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

14.06.2566
43
1
แชร์
14
มิถุนายน
2566

วันผู้บริจาคโลหิตโลก (World Blood Donor Day)

14 มิถุนายน 2566

               เนื่องในวันที่ 14 มิถุนายน ของทุกปี ที่เป็นวันผู้บริจาคโลหิตโลก (World Blood Donor Day) เพื่อให้เห็นความสำคัญของการบริจาคโลหิต ได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนที่มีสุขภาพfuร่วมบริจาคโลหิต ช่วยชีวิตเพื่อมนุษย์ การบริจาคโลหิตในผู้ที่มีสุขภาพดีไม่ส่งผลกระทบกับสุขภาพและไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคโลหิต เพราะเป็นการสละโลหิตส่วนเกินที่ร่างกายยังไม่จำเป็นต้องใช้ให้กับผู้ป่วย เพราะร่างกายของแต่ละคนมีปริมาณโลหิตประมาณ 17-18 แก้วน้ำ ร่างกายจะใช้เพียง 15-16 แก้วเท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้นสามารถบริจาคให้ผู้อื่นได้ 

               เพื่อให้ผู้ที่ต้องการบริจาคโลหิตหรือที่บริจาคโลหิตแล้ว ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง จึงควรเลือกรับประทานสารอาหารที่มีประโยชน์และมีส่วนช่วยทำให้เลือดสมบูรณ์และเข้นข้น ซึ่งเป็นอาหารที่อุดมสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดงให้สมบรูณ์ ได้แก่ ธาตุเหล็ก วิตามินบี12 และ กรดโฟลิค (วิตามินบี 9 ) ซึ่งเป็นสารอาหารหลักที่สำคัญในการสร้างเม็ดเลือดเเดงนั้นเอง

               สำนักโภชนาการจึงมีคำแนะนำในการบริโภคอาหาร เพื่อให้ได้รับสารอาหารดังกล่าวดังนี้

  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ เนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เป็นอาหารธาตุเหล็กสูง และร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้โดยตรง เครื่องในจากสัตว์ เลือด ตับ ซึ่งเป็นแหล่งของธาตุเหล็กและสารอาหารอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน วิตามินบี ทองแดง ซีลีเนียม อาหารทะเล เช่น หอยแครง หอยแมลงภู่ กุ้ง ปลาทูน่า ไข่แดง เป็นอาหารที่กินง่ายกินได้ทุกวัน เด็กวัยเรียนและผู้ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพควรกินเป็นประจำ
  • ผักใบเขียว ในผักใบเขียวหลาย ๆ ชนิด มีธาตุเหล็กสูง เช่น ผักโขม คะน้า ตำลึง ปวยเล้ง บรอกโคลี
  • ผัก ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น พริกหวาน ส้ม มะละกอ สับปะรด ฝรั่ง สตรอเบอรี่ ลิ้นจี่ เงาะ จะช่วยให้การดูดซึมธาตุเหล็กดียิ่งขึ้น
  • ไม่ควรกินอาหาร พร้อมกับนมวัว นมถั่วเหลือง เพราะแคลเซียมในนม และไฟเตทในนมถั่วเหลืองจะทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กลดลง

               ทั้งนี้ผู้ที่ต้องการบริจาคโลหิตควรเตรียมตัวก่อนบริจาคเลือด โดยต้องนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง หากอยู่ระหว่างรับประทานยารักษาโรค ให้แจ้งแพทย์/พยาบาล หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ ขนมหวาน ก่อนมาบริจาคโลหิต 6 ชั่วโมง ก่อนบริจาคเลือด และก่อนเจาะเลือดบริจาคให้ดื่มน้ำ 3-4 แก้ว จะช่วยทำให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ทั้งก่อนและหลัง บริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง หลังบริจาคเลือด ควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ และรับประทานยาเสริมธาตุเหล็ก วันละ 1 เม็ด หลังอาหารจนหมด เพื่อชดเชยธาตุเหล็กที่เสียไป การดูแลสุขภาพก่อนและหลังบริจาคโลหิตจะช่วยให้โลหิตที่ได้มีคุณภาพดีและไม่ส่งผลกระทบกับสุขภาพหลังบริจาคโลหิตด้วย

 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน