คุณกำลังมองหาอะไร?

ลเรือโท นพ.นิกร เพชรวีระกูล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานเปิดงาน “รณรงค์สาวไทยแก้มแดง” พร้อมมอบโล่แก่สถานประกอบการสาวไทยแก้มแดงต้นแบบ 47 แห่ง โดยมี ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวรายงาน

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

14.02.2567
140
0
แชร์
14
กุมภาพันธ์
2567

สธ.-สปสช. หนุนสาววัยเจริญพันธุ์ ใช้บัตรประชาชนใบเดียว รับยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิก

         กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หนุนสาวไทยวัยเจริญพันธุ์ ที่มีอายุระหว่าง 13 – 45 ปี ทั่วประเทศ ใช้บัตรประชาชนใบเดียว หรือ เข้าแอปเป๋าตัง รับยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิกที่ร้านยาที่มีสติกเกอร์ "ร้านยาคุณภาพ" เพื่อลดปัญหาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในหญิงวัยเจริญพันธุ์ สู่การเตรียมความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์คุณภาพ และลดความเสี่ยงของทารกพิการแต่กำเนิด
พร้อมชู 47 สถานประกอบการ เป็นสถานประกอบการสาวไทยแก้มแดงต้นแบบ

         วันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2567) พลเรือโท นายแพทย์นิกร เพชรวีระกูล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยหลังเป็นประธานงานรณรงค์สาวไทยแก้มแดง ณ โรงแรม เบสท์ เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ จังหวัดนนทบุรี ว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญต่อการพัฒนางานด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน สังคม ร่วมกันขับเคลื่อนระบบสุขภาพของคนไทยให้สมบูรณ์และยั่งยืน พร้อมทั้งสนับสนุนสถานประกอบการที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพแรงงาน ขับเคลื่อนเป็นสถานประกอบการสาวไทยแก้มแดง และต่อยอดขยายผลและสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติด้านการเสริมสร้าง ให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี สนับสนุนการเกิดมีคุณภาพ โดยมีเป้าหมาย คือ หญิงวัยเจริญพันธุ์ มีภาวะโภชนาการที่ดี ไม่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและโฟเลต ร่างกายมีความพร้อมที่จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ และรองรับการตั้งครรภ์ในอนาคต ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่คลอดบุตร 6 เดือนขึ้นไป ส่งผลให้ในปี 2566 มีสถานประกอบการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการสาวไทยแก้มแดง จำนวน 47 แห่ง

         ดร.นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หากหญิงวัยเจริญพันธุ์มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก หรือ ร่างกายเก็บสะสมธาตุเหล็กไว้ไม่เพียงพอ เมื่อตั้งครรภ์จะส่งผลกระทบต่อทั้งมารดา และทารกในครรภ์ โดยผลกระทบมารดา คือ รกลอกตัวก่อนกำหนด และการคลอดก่อนกำหนด สำหรับผลกระทบต่อทารก คือ อัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ทารกคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดต่ำ (น้อยกว่า 2,500 กรัม) จากข้อมูล Health Data Center กระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบว่า หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 15-49 ปี มีภาวะโลหิตจางร้อยละ 48.7 ทั้งนี้ ตามมติสมัชชาอนามัยโลก Global Nutrition Targets ที่ตั้งเป้าหมายลดภาวะโลหิตจางของหญิงวัยเจริญพันธุ์ลงร้อยละ 50 ในปี พ.ศ. 2573 ยังไม่บรรลุเป้าหมาย กล่าวคือ ในขั้นต้นประเทศไทยควรมีภาวะโลหิตจางในหญิงวัยเจริญพันธุ์ไม่เกิน 24.3 และลดลงให้เหลือร้อยละ 12.7 ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุข ยังคงมุ่งมั่นดำเนินการและมีมาตรการป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กอย่างต่อเนื่อง

         “ทั้งนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มช่องทางให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 13 ถึง 45 ปี ได้รับยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิกได้สะดวกยิ่งขึ้น เพียงถือบัตรประชาชนมาที่ร้านยาที่มีสติกเกอร์ร้านยาของฉัน ให้บริการสร้างเสริมสุขภาพ หรือใช้แอปเป๋าตัง เมนูกระเป๋าสุขภาพ เลือกสิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค เลือกรับบริการที่ต้องการหรือจองคิวล่วงหน้าได้เลย นอกจากการกินยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิก สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ และสำหรับผู้เตรียมตั้งครรภ์ต้องกินติดต่อกันอย่างน้อย 12 สัปดาห์ก่อนตั้งครรภ์ กรมอนามัยยังส่งเสริมให้หญิงไทยกินผัก ผลไม้ และเลือกแหล่งอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์ ตับ เลือด จะช่วยลดปัญหาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และลดความเสี่ยงของทารกพิการแต่กำเนิดซึ่งจะนำไปสู่การตั้งครรภ์ อย่างมีคุณภาพเป็นสาวไทยแก้มแดงของไทยต่อไป”

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน