กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักโภชนาการ กรมอนามัย นำโดย ดร.แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการจัดประชุมเพื่อหารือผู้เชี่ยวชาญเรื่องการประยุกต์ใช้ข้อแนะนำแนวทางการให้อาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็กอายุ 6 - 23 เดือน ขององค์การอนามัยโลกฉบับปี ค.ศ. 2023 (WHO Guideline for complementary feeding of infants and young children 6 - 23 months of age) ตามบริบทประเทศไทย ณ ห้องประชุมอุทัย พิศลยบุตร สำนักโภชนาการ กรมอนามัย และผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (CISCO WEBEX MEETING)
ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงลัดดา เหมาะสุวรรณ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ ดร. แพทย์หญิงนลินี จงวิริยะพันธุ์ และรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงอุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงกุลนิภา กิตติศักดิ์มนตรี และแพทย์หญิงจีรพรรณ โพธิ์สุวัฒนากุล จากสมาคมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุภาพรรณ ตันตราชีวธร จากคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชวิทยาลัย แพทย์หญิงนภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์อุไรพร จิตต์แจ้ง จากมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ จากมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย แพทย์หญิงฐิติภรณ์ ตวงรัตนานนท์ และนางชนัญชิดา สมสุข จากกองอนามัยมารดาและทารก แพทย์หญิงวิสารัตน์ ธีระโกเมน รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สำนักโภชนาการ และนักวิชาการกลุ่มส่งเสริมโภชนาการสตรีและเด็กปฐมวัย จากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย รวมจำนวน 22 คน
สาระสำคัญ
ดร.แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ เพื่อหารือผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณาข้อแนะนำแนวทางทางการให้อาหารตามวัยของ WHO Guideline for complementary feeding of infants and young children 6 - 23 months of age ที่เพิ่งเผยแพร่วันที่ 16 ตุลาคม ปี ค.ศ. 2023 เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการแนะนำการให้อาหารตามวัยของทารกและเด็กเล็กอายุ 6 - 23 เดือน ตามบริบทประเทศไทย เพื่อนำมติข้อหารือมาใช้ในการดำเนินการเพิ่มมาตรการ และการสื่อสารให้ทารกและเด็กเล็กได้รับอาหารตามวัยที่เหมาะสม และพิจารณาความสอดคล้องของข้อปฏิบัติการให้อาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของทารกและเด็กเล็กของประเทศไทย (Food-based Dietary Guidelines : FBDGs) ที่ได้พัฒนาขึ้นและเริ่มเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2566 ในรูปแบบโภชนบัญญัติ 9 ประการตามกลุ่มอายุ (ดังภาพประกอบ) ซึ่งสถานการณ์โภชนาการในประเทศไทยจากการสำรวจ MICs 2022 พบว่า เด็ก 6 - 23 เดือน ได้รับความหลายหลายของอาหารร้อยละ 76.7 และได้รับจำนวนมื้ออาหารขั้นต่ำ ร้อยละ 81.2 โดยเด็กที่กินนมแม่ได้รับความหลากหลายของอาหาร และกินอาหารตามจำนวนมื้อขึ้นต่ำแนวโนมลดลงจากร้อยละ 52.9 ในปี ค.ศ. 2019 เป็นร้อยละ 47.8 ในปี ค.ศ. 2022
โดยข้อแนะนำของ WHO Guideline for complementary feeding of infants and young children 6 - 23 months of age (2023) ประกอบด้วยข้อแนะนำหลักจำนวน 7 ข้อ ทั้งนี้มีประเด็นสำคัญที่แตกต่างจากข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกฉบับเดิม คือ WHO Guideline Principles for complementary feeding of the breastfeed child (2003) และ WHO Guiding principles for feeding non-breastfed children 6 - 24 months of age (2005) จำนวน 2 ข้อ ดังนี้
ข้อแนะนำที่ 2 ของ WHO เรื่อง การให้นมในทารกอายุ 6 - 11 เดือน ที่ได้รับนมอื่นนอกเหนือจากนมแม่ สามารถให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกหรือนมจากสัตว์ได้ ส่วนการให้นมในเด็กอายุ 12 - 23 เดือน ที่ได้รับนมอื่นนอกเหนือจากนมแม่ สามารถให้นมจากสัตว์ได้ แต่ไม่แนะนำนมผงดัดแปลงสูตรต่อเนื่อง (Follow-up formulas)
ข้อแนะนำที่ 5 ของ WHO เรื่อง การกินอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพ (Unhealthy foods and beverages) ควรหลีกเลี่ยงการให้อาหารดังต่อไปนี้ 1) อาหารที่มีน้ำตาล เกลือ และไขมันทรานส์สูง 2) เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม 3) สารให้ความหวานแทนน้ำตาล และไม่ควรดื่มน้ำผลไม้ 100% บ่อยเกินไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงกุลนิภา กิตติศักดิ์มนตรี จากสมาคมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลทางวิชาการจากการทบทวนวรรณกรรม 9 การศึกษา และ 8 ใน 9 การศึกษามาจากประเทศ Hight income countries พบว่า ประชากรมีปัญหาการขาดธาตุเหล็กน้อยกว่าประเทศไทย ข้อมูลในเด็ก 6 – 12 เดือน ที่ดื่มนมจากสัตว์ พบภาวะโลหิตจาง ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ภาวะขาดธาตุเหล็ก และเม็ดเลือดแดงต่ำ นอกจากนี้ยังพบว่า ถ้ากินนมสัตว์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนได้ด้วย และข้อมูลใน ESPGHAN POSITION PAPER ON YOUNG CHILD FORMULAS ปี 2016 ให้พิจารณาสูตรนมที่ใช้ ควรมีโปรตีนไม่สูง เพื่อลดปัญหาโรคอ้วน (คำแนะนำ)
ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยยังพบความชุกภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก และโรคอ้วนในเด็กเล็กที่สูง ดังนั้นการให้นมสัตว์ในทารกอายุ 6 - 11 เดือน ยังไม่มีประโยชน์เพียงพอ และอาจเกิดผลเสียมากกว่า อีกทั้งข้อพิจารณาด้านเศรษฐกิจสังคมประเทศไทยสามารถเข้าถึงนมผงสูตรดัดแปลงสำหรับทารกเพื่อเป็นทางเลือกกรณีไม่สามารถให้นมแม่ได้ ในคำแนะนำของ WHO ข้อนี้ อาจเพื่อครอบคลุมสำหรับบางประเทศที่มีเศรษฐสถานะยากจนซึ่งการได้รับนมสัตว์อาจดีกว่าการไม่ได้รับนมอย่างเพียงพอ
สรุปมติที่ประชุม
1.การให้นมในทารกอายุ 6 - 11 เดือน หากได้รับนมอื่นนอกเหนือจากนมแม่ ไม่แนะนำให้กินนมจากสัตว์ โดยให้ยึดตามหลักการเดิม คือ ให้ทารกแรกเกิด - 6 เดือน กินนมแม่อย่างเดียว ไม่ต้องให้อาหารอื่นแม้แต่น้ำ ทารกอายุ 6 - 11 เดือน กินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัย
2.การให้อาหารในเด็กอายุ 1 ปี ขึ้นไป แนะนำตามเดิมคือ ให้กินนมแม่ต่อเนื่อง - 2 ปี และเสริมนมรสจืดควบคู่กับอาหารตามวัย
3.ข้อปฏิบัติการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีสำหรับทารกแรกเกิด - 12 เดือน และเด็กอายุ 1 - 5 ปี ของประเทศไทยสอดคล้องกับข้อแนะนำของ WHO ไม่ต้องแก้ไข ทั้งนี้ให้สามารถเพิ่มรายละเอียด ข้อแนะนำ ขยายความในเล่มคู่มือข้อปฏิบัติการกินอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ได้แก่ 1)เรื่องการให้นมทารก 6 - 11 เดือน ประกอบด้วย ความสำคัญและประโยชน์ของนมแม่ หากนมแม่ไม่เพียงพอควรได้รับคำปรึกษา Breastfeeding Management ก่อน และทางเลือกถัดไปคือ นมผงดัดแปลงสำหรับทารกโดยคำนึงถึง วิธีการชง ถูกสัดส่วน และความสะอาดปลอดภัย ไม่แนะนำนมสัตว์ 2) การกินอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพ อาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงการหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป และควรให้ดื่มน้ำผลไม้ 100% ในปริมาณที่จำกัด เพื่อป้องกันการได้รับปริมาณน้ำตาลมากเกินไป และการแนะนำให้กินผลไม้สดเป็นชิ้น เพื่อฝึกการบดเคี้ยวของเด็ก
ก้าวต่อไป
1.สำนักโภชนาการ กรมอนามัย จัดทำคู่มือการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี (Food-Based Dietary Guidelines: FBDGs) สำหรับเด็กอายุ 0 – 5 ปี
2.หารือร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการปรับเนื้อหา คู่มืออาหารตามวัย สำหรับทารกแรกเกิด - 23 เดือน ประเทศไทย (ฉบับใหม่)