คุณกำลังมองหาอะไร?

กิจ

กิจกรรมเปิดตัวเอกสารด้านโภชนาการ Side Event on Launching of Various Nutrition-related Guidelines

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

09.08.2567
112
0
แชร์
09
สิงหาคม
2567

      การประชุม “16th ASEAN Health Ministers Meeting (AHMM) and Related Meetings” จัดประชุมระหว่างวันที่ 5 - 9 สิงหาคม 2567 ณ นครหลวงเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นหัวหน้าทีมผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ ดร. บุนแฝง พูมมะไลสิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม 16th AHMM ทั้งนี้ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ดร. บุนแฝง พูมมะไลสิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกล่าวเปิดประชุมกิจกรรมเปิดตัวเอกสารด้านโภชนาการ (Side Event on Launching of Various Nutrition-related Guidelines) โดยมี H.E. Ekkaphab Phanthavong, Deputy Secretary General (DSG) of ASEAN for Socio-Cultural Community (ASCC), ASEAN Secretariat และ June Kunugi, UNICEF Regional Director ร่วมกล่าวสนับสนุนการเปิดตัวเอกสารด้านโภชนาการ ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกที่รับผิดชอบหลักในการพัฒนาเอกสารด้านโภชนาการ นำเสนอที่มาและความสำคัญและขอบเขตของเอกสาร สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1) ASEAN Guidelines and Minimum Standards for Maternal Nutrition ประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพหลัก เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมโภชนาการที่ดีตลอดช่วงชีวิต โดยให้ความสำคัญกับภาวะสุขภาพของกลุ่มมารดาและเด็กเล็ก กลุ่มนี้ความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เนื่องจากมีความต้องการสารอาหารที่เพิ่มขึ้นในช่วงมีประจำเดือน ระหว่างการตั้งครรภ์ การคลอดบุตร และให้นมบุตร หากไม่มีการเตรียมความพร้อมสุขภาพในผู้หญิงและเด็กหญิงที่จะมีบุตร จะส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการในกลุ่มวัยต่อมา

2) ASEAN Guidelines and Minimum Standards for Implementation of Mandatory Large-scale Food Fortification ประเทศลาวเป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้กำหนดโยบายและผู้จัดการโครงการต่างๆ ในสมาชิกอาเซียนในการวางแผน ออกแบบ และปรับใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเสริมสารอาหาร โดยประกอบด้วยคำแนะนำและแนวทางจากระดับโลก แนวทางการประเมิน การตรวจสอบ และถอดบทเรียนต่างๆ เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ตามบริบทของประเทศสมาชิกอาเซียน

3) ASEAN Regional Guidelines on Minimum Standards for Management of Child Wasting in National Health Systems ประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกัน และจัดการภาวะผอมตั้งแต่เริ่มพบปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือเด็กแรกเกิด - 2 ปี รวมถึงการบูรณาการรักษาภาวะผอมในเด็กให้เป็นงานประจำในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ

4) Minimum Standards and Guidelines for the ASEAN School Nutrition Package ประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพหลัก เป็นแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพเด็กวัยเรียน อายุ 3 - 18 ปี ในโรงเรียนให้มีสุขภาพดีแบบองค์รวม การบริโภคอาหารปลอดภัย มีโภชนาการเหมาะสม การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี ได้แก่ การปกป้องเด็กจากการเข้าถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพ (มีปริมาณ ไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง) การให้วิตามินเสริม (micronutrients) การถ่ายพยาธิ เป็นต้น

             ดร.พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ ร่วมให้ข้อคิดเห็นการดำเนินงาน ส่งเสริมโภชนาการในโรงเรียนของประเทศไทย (School Nutrition) โดยสำนักโภชนาการได้พัฒนา “ชุดความรู้หนูเพชร” เนื้อหาประกอบด้วย 6 ส่วนในการส่งเสริมให้เด็กมีสุขภาพดีแบบองค์รวม ดังนี้ Nutrition, Physical, Activity, Environmental, Teeth, Hygiene and Sleep โดยในส่วนกิจกรรมโภชนาการส่งเสริมให้เด็กวัยเรียนกินอาหารครบ 5 หมู่ กินอย่างไรเพื่อยืดความสูง กินผักผลไม้หลากสี และอาหารลดหวาน มัน เค็ม และได้มีการศึกษาประสิทธิผลการใช้ชุดความรู้ “NuPETHES”  ดังกล่าว ในปี 2562 ประเมินพฤติกรรมสุขภาพการดูแลตนเองของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ด้านความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติ พบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนความรู้ และการปฏิบัติหลังใช้สื่อความรู้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เน้นการใช้เทคนิคสร้างตัวละครที่เป็นภาพการ์ตูนน่ารัก น้องหนู และ น้องเพชร เพื่อให้เด็กชื่นชอบและเลียนแบบพฤติกรรมที่ดี นอกจากนี้ มีแผนการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ซึ่งอยู่ระหว่างการร่างหลักสูตรการจัดการอาหารและโภชนาการ สำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ครูในโรงเรียน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ชุมชน ผู้ประกอบอาหาร รวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และยุวอสม. ให้มีทักษะในการเตรียม ปรุงประกอบอาหารให้มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมตามวัย 

มติที่ประชุม สมาชิกอาเซียนเห็นชอบต่อการเปิดตัวเอกสาร และพร้อมนำไปปรับใช้ตามบริบทของประเทศ สำหรับประเทศไทยเพื่อเป็นการยกระดับงานด้านโภชนาการให้สอดคล้องตามเอกสารข้อเสนอแนะขั้นต่ำทั้ง 4 ฉบับ รวมทั้ง Minimum Standards and Guidelines on actions to protect children from the harmful impact of marketing of food and non-alcholic beverages in the ASEAN region ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพหลัก และได้เปิดตัวเอกสารไปเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 มีประเด็นดังนี้

  1. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมโภชนาการทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะโภชนาการในกลุ่มแม่และเด็ก(Maternal nutrition) ตามโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต Plus สู่ 2,500 วัน (ตั้งแต่หญิงตั้งครรภ์ - เด็กอายุ 2 ปี ขยายต่อเนื่องจนถึงเด็กอายุ 5 ปี) หากกลุ่มนี้มีภาวะโภชนาการดีจะส่งต่อช่วงวัยต่างๆ ให้มีสุขภาพที่ดีด้วย
  2. ยกระดับงานบริการด้านโภชนาการ (Nutrition services) เน้นการป้องกันโรคมากกว่าการรักษา รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพด้านโภชนาการตามชุดสิทธิประโยชน์ เช่น ยาน้ำเสริมธาตุเหล็กในเด็ก 6 เดือน - 5 ปี ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กในเด็ก 6 - 12 ปี ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิกในหญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุระหว่าง 13 - 45 ปี ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก กรดโฟลิก และไอโอดีนสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น
  3. มีมาตรการเสริมสารอาหารภาคบังคับที่จำเป็นได้อย่างเหมาะสม (Mandatory large-scale food fortification) เช่น การผลิตเกลือเสริมไอโอดีน รวมทั้งยกระดับผู้ประกอบการให้มีทักษะการเสริมสารอาหารที่เหมาะสม 
  4. ยกระดับหลักสูตรโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ เน้นกิจกรรมโภชนาการ (School nutrition) โดยผลักเข้าหลักสูตรแกนกลาง รวมทั้งพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรการจัดการอาหารและโภชนาการสำหรับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมและประกอบอาหารในโรงเรียน
  5. สร้างความรอบรู้ด้านอาหารและโภชนาการ (Nutrition literacy) ประเด็นการบริโภคอาหารตามข้อปฏิบัติการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีทุกลุ่มวัย (Food Based Dietary Guidelines: FBDGs) รวมทั้งสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีโภชนาการที่ดี เพื่อปกป้องเด็กจากการเข้าถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพ (มีปริมาณ ไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง)

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน