กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2567 กรมอนามัย โดยสำนักโภชนาการ ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่ายสำหรับสนับสนุนการผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพมหานคร
ประธานการประชุม : ดร.นพ.ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย
กล่าวรายงานโดย : ดร.พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ
ผู้เข้าร่วมประชุม : สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO Thailand) WHO IDLO แผนงาน WHO CCS-NCD องค์การยูนิเซฟประเทศไทย ภาคีเครือข่าย ด้านสุขภาพ (เช่น ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและนายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม) ด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว (เช่น คุณวาสนา เก้านพรัตน์ ประธานเครือข่ายสิทธิเด็ก
เครือข่ายสิทธิเด็ก ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน คุณเชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค (เช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค) ด้านการสื่อสาร (เช่น กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้นจำนวนประมาณ 50 คน
วัตถุประสงค์ : เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของการตลาดอาหารและเครื่องดื่มต่อสุขภาพเด็ก สื่อสารความก้าวหน้าการดำเนินการพัฒนาและขับเคลื่อนพัฒนา (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ และหารือแนวทางการผลักดันร่างกฎหมายปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่วมกัน
ประเด็นสำคัญของการประชุม : การจัดกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก โดยมีรายละเอียดดังนี้
กิจกรรม 1 อภิปรายเรื่อง “การปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ” โดยมีรายละเอียดดังนี้
ดำเนินการอภิปรายโดย ดร.เภสัชกรหญิงธนพันธ์ สุขสอาด สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย
หัวข้อ 1 ผลการศึกษาวิจัยสถานการณ์แลผลกระทบของการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมสุขภาพเด็กไทย
โดย ดร.นงนุช จินดารัตนาภรณ์ อาจารย์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
- ผลการศึกษาวิจัยสถานการณ์แลผลกระทบของการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมสุขภาพเด็กไทย พบว่า 3 ลำดับแรกของการตลาดอาหารที่เด็กพบเห็น คือ รูปแบบการแสดงรูปการ์ตูนบนฉลากผลิตภัณฑ์ 78.8% การใช้พรีเซ็นเตอร์โปรโมทอาหาร 72.6% และป้ายลดราคา 71.6% โดยเด็กพบเห็นเยอะที่สุดในช่องทางสื่อโซเชียลและวีดีโอแชร์ 84% ซึ่งเด็กเกือบครึ่งพบเห็นการตลาดอาหารแล้วมีผลต่อความชอบและการบริโภคเพิ่มมากขึ้น และเสนอแนะให้กระทรวงสาธารณสุข ควรเร่งออกกฎหมายวบคุมการตลาดอาหารที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก
หัวข้อ 2 อัพเดทข้อเสนอแนะระดับโลกกับนโยบายปกป้องเด็กจากผลกระทบที่เกิดจากการทำการตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร (Policies to protect children from the harmful impact of food marketing: WHO guideline)
โดย ดร.สุชีรา บรรลือสินธุ์ WHO Thailand
- สถานการณ์การทำการตลาดอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลก มีการทำการตลาดอย่างหนักหน่วง ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มี ไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง High Fat Salt Sugar (HFSS) อาหารแปรรูป หลากหลายช่องทาง เช่น โทรทัศน์ สื่อดิจิตอล สื่อนอกบ้าน ในร้านค้า เป็นต้น ซึ่งแนวทางเพื่อการพัฒนานโยบายเพื่อปกป้องเด็กจากการตลาดอาหารที่ส่งผลต่อสุขภาพงฉบับล่าสุดเผยแพร่ปี 2567 มีข้อแนะนำคือ
1) ควรเป็นนโยบายภาคบังคับ
2) ปกป้องเด็กและเยาวชนทุกกลุ่มวัย
3) ใช้เกณฑ์โภชนาการที่กำหนดโดยภาครัฐในการจำแนกอาหารที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
4) มาตรการครอบคลุมเพียงพอที่จะจำกัดการทำการตลาดข้ามช่องทาง หรือกลุ่มอายุ
5) สามารถควบคุมอำนาจการโน้มน้าวของการทำการตลาดได้
หัวข้อ 3 การพัฒนาและขับเคลื่อน (ร่าง) พระราชบัญญัติควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก
โดย ดร.พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ
- 20 ปี ที่ผ่านมา เด็กไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่า สาเหตุหนึ่งเกิดจากการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน โซเดียมสูง เช่น ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มที่มีการเติมน้ำตาล ซึ่งการศึกษาพบว่า 88%ของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มไทยไม่ผ่านเกณฑ์โภชนาการ และการตลาดกระตุ้นให้เด็กกินอาหารและเครื่องดื่มเหล่านั้นมากขึ้น และการศึกษาไทยพบว่าการปกป้องเด็กจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มหวานมันเค็ม เป็นมาตรการที่เป็นช่องว่างสำคัญของประเทศไทย ตามกรอบมาตรการเพื่อยุติภาวะอ้วนในเด็กระดับโลก (WHO ECHO) และประเทศไทยมีกฎหมายบางส่วนที่ควบคุมการตลาดอาหาร แต่ยังขาดกฎหมายเฉพาะการตลาดอาหารและเครื่องดื่มในเด็ก ซึ่งมาตรการนี้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะระดับโลกและระดับประเทศ กรมอนามัยและภาคเครือข่ายจึ่งร่วมกันพัฒนาร่างกฎหมายขึ้น โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าวดำเนินการประชาพิจารณ์และปรับแก้ไขร่างฉบับหลังประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเสนอเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไป รวมทั้งปัจจุบันกำลังพัฒนาเกณฑ์การจำแนกมาตรฐานโภชนาการสำหรับควบคุมการตลาดตามบริบทของประเทศไทย
หัวข้อ 4 กลไกการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย/กิจกรรมในการสนับสนุนการผลักดันร่างกฎหมายฯ และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง
โดย อาจารย์สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
- มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2552 มติ 2.8 การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ในข้อ 4 การจัดทำระเบียบว่าด้วยการตลาดเกี่ยวกับอาหาร ที่มุ่งเป้าหมายไปยังเด็ก และมีผลต่อความรุนแรงของภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติ เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2553 ดังนั้นแสดงให้เห็นว่าปัญหาานี้ไม่ได้พึ่งเกิดขึ้น แต่มีความสำคัญตั้งแต่ 15 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ความร่วมมือภาคีเครือข่าย การมีส่วนร่วมจะช่วยสนุบสนุนการดำเนินการผลักดันได้ เช่น ข้อมูลความรู้ ตัวอย่างพื้นที่ปฏิบัติจริิง การลงมือลงแรง การพัฒนาศักยภาพ และการสร้างความสัมพันธ์ เป็นต้น
กิจกรรม 2 กิจกรรมกลุ่มแนวทางการผลักดันร่างกฎหมายปกป้องเด็กจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยภาคเครือข่ายประกอบด้วย ภาคีเครือข่าย 1) ด้านสุขภาพ 2) ด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว 3) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค 4) ด้านการสื่อสาร ซึ่งร่วมกันคิดแนวทางการดำเนินการร่วมกัน และมีเป้่าหมายร่วมกัน คือ การปกป้องและคุ้มครองเด็กจากการตลาดอาหารและ้เครื่องดืมที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน โซเดียมสูงอย่างเป็นรูปธรรม