กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.00-11.00 น. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย มอบหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมการขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของคณะนักธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน [US-ASEAN Business Council (USABC)] ประจำปี 2567 ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรับทราบนโยบายที่สำคัญของกระทรวงสาธารณสุขและส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนสหรัฐฯ โดยเฉพาะการส่งเสริมการค้าและการลงทุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งความร่วมมือด้านนวัตกรรม
ประธาน: นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ผู้เข้าร่วมประชุม : US-ASEAN Business Council (USABC) นำโดย Ambassador Brian McFeeters, Senior Vice President and Regional Managing Director และผู้แทนหน่วยงานภายใต้ USABC จำนวน 21 องค์กร และกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย นพ.โอภาส การย?กวินพงศ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการหารือ โดยผู้บริหารกรมอนามัยที่เข้าร่วม ได้แก่ ดร.พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ และ ดร.นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรมอนามัย
1. ความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDG 3: สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ประเด็นอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการตกเลือดหลังคลอด (postpartum hemorrhage ;PPH) ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิงทั่วโลกระหว่างการคลอดบุตร(ประเด็นเกี่ยวกับ สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์)
2. ข้อกังวลของบริษัทอาหารและเครื่องดื่มต่อการห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มหลายชนิดกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ตาม (ร่าง) พระราชบัญญัติการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเกณฑ์จำแนกอาหารมาตราฐานโภชนาการ (Nutrients Profile) โดยผู้แทนจาก Vriens &Partners (VP) (ประเด็นเกี่ยวกับ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย)
สรุปประเด็นหารือของสำนักโภชนาการ
- (ร่าง) พระราชบัญญัติควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กของประเทศไทย มีเจตนารมณ์เพื่อปกป้องเด็กจากการถูกกระตุ้นให้ซื้อและบริโภคจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (อาหารและเครื่องดื่มที่หวานมันเค็มเกินเกณฑ์)
- โดยกฎหมายปกป้องเด็กช่วงอายุต่ำกว่าอายุ 18 ปี ซึ่งช่วงอายุดังกล่าวสอดคล้องกับ 1) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก 2) ข้อเสนอแนะนโยบายปกป้องเด็กจากผลกระทบของการตลาดอาหารขององค์การอนามัยโลก ค.ศ.2023 และ 3) นิยามเด็กตาม พ.ร.บ.คุ?มครองเด็ก พ.ศ.2546 ของประเทศไทย
- เจตนารมณ์การควบคุมการโฆษณา ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นการควบคุมเฉพาะอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง ตามเกณฑ์โภชนาการที่กำหนดเท่านั้น (กลุ่มอาหารที่เด็กบริโภคบ่อย ทำการตลาดเยอะ และมีปริมาณไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง เช่น กลุ่มขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มบรรจุขวด ขนมหวานและไอศกรีม) ไม่ได้ควบคุมผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดในท้องตลาด และ F&D companies ยังคงทำการตลาดได้ เพราะในหลายบริษัทอาหารและเครื่องดื่มมีผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งมีการลดปริมาณไขมัน น้ำตาล โซเดียมแล้ว
- ขอขอบคุณบริษัทอาหารและเครื่องดื่มสำหรับพัฒนาอาหารและเครื่องดื่มที่เหมาะสมกับสุขภาพมากขึ้น และขอบคุณสำหรับความสนใจในร่างกฎหมายเพื่อปกป้องเด็กฉบับนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยินดีรับฟังข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนามาตรการให้มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบทของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายสูงสุดร่วมกัน คือ เพื่อให้เด็กมีสุขภาพที่ดี
ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต่อความร่วมมือ US-ASEAN Business Council (USABC)
: ความร่วมมือต่อไปอยากมุ่งเน้นในการจัดการโรค NCDs โดยเฉพาะการบริโภคอาหารซึ่งเป็นสาเหตุหลัก ความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีที่มากขึ้นจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาในประเด็นดังกล่าว รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรับทราบข้อเสนอแนะและข้อห่วงใยจาก USABC