สำนักโภชนาการ นำโดย ดร.แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ จัดประชุมการพัฒนามาตรฐานการเพิ่มน้ำหนักขณะตั้งครรภ์ชุดใหม่ในหญิงไทย วันที่ 24 มีนาคม 2568 เวลา 09.30 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ อาคาร 7 ชั้น 7 กรมอนามัย
โดยได้รับเกียรติจาก นายแพทย์กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ประธานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย เป็นประธานการประชุม
มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 61 คน ประกอบด้วย นางณัฐวรรณ เชาวน์ลิลิตกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ รศ.นพ.ชเนนทร์ วนาภิรักษ์ รศ.พญ.พิมล วงศ์ศิริเดช พญ.อมต ภู่ริยะพันธ์ นางสาววารีทิพย์ พึ่งพันธ์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมโภชนาการสตรีและเด็กปฐมวัย นักวิชาการจากกลุ่มส่งเสริมโภชนาการสตรีและเด็กปฐมวัย ศูนย์อนามัยที่ 1 – 12 สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง และบุคลากรทางการแพทย์ทั้งภายใน และภายนอกกรมอนามัย
วัตถุประสงค์ :
1. นำเสนอผลการจัดทำมาตรฐานการเพิ่มน้ำหนักขณะตั้งครรภ์ชุดใหม่ในหญิงไทย
2. เพื่อนำมาตรฐานการเพิ่มน้ำหนักขณะตั้งครรภ์ชุดใหม่ไปใช้ขับเคลื่อนทั่วประเทศ
ประเด็นสำคัญ :
การเพิ่มน้ำหนักที่เหมาะสมขณะตั้งครรภ์และภาวะโภชนาการก่อนตั้งครรภ์ ส่งผลต่อสุขภาพทั้งแม่และเด็ก หากน้ำหนักไม่เหมาะสม จะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนในแม่ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ และเพิ่มโอกาสผ่าตัดคลอด ผลต่อทารก ในด้านการเจริญเติบโตและพัฒนาการ เช่น ความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด ภาวะทารกน้ำหนักน้อย และทารกตัวโต ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ซึ่งปัญหาในปัจจุบัน พบว่า
-
มาตรฐานการเพิ่มน้ำหนักของ Institute of Medicine (IOM) เหมาะสำหรับหญิงตั้งครรภ์ในยุโรปและอเมริกา ไม่สอดคล้องกับหญิงตั้งครรภ์ไทย
-
กราฟโภชนาการหญิงตั้งครรภ์ (VALLOP CURVE) ที่ใช้ในไทยมีข้อจำกัด เพราะกำหนดค่ามาตรฐาน BMI ก่อนตั้งครรภ์ที่ 21 ซึ่งอาจไม่เหมาะกับหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะผอมหรืออ้วน
ดังนั้น สำนักโภชนาการร่วมกับคณะทำงานกำหนดมาตรฐานการเพิ่มน้ำหนักขณะตั้งครรภ์ของประเทศไทย
ได้พัฒนามาตรฐานการเพิ่มน้ำหนักขณะตั้งครรภ์ชุดใหม่ที่จำแนกค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ก่อนตั้งครรภ์ เพื่อใช้เป็นแนวทางที่ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนและส่งเสริมสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ ในรูปแบบกราฟมาตรฐาน
การเพิ่มน้ำหนักขณะตั้งครรภ์ชุดใหม่ในหญิงไทย จำนวน 4 ภาวะโภชนาการ ดังนี้
1. กราฟการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะผอมก่อนตั้งครรภ์
2. กราฟการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักในหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักปกติก่อนตั้งครรภ์
3. กราฟการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะน้ำหนักเกินก่อนตั้งครรภ์
4. กราฟการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วนก่อนตั้งครรภ์
ก้าวต่อไป
1. ดำเนินการจัดทำการทดลองเบื้องต้น (Try Out) เกี่ยวกับกราฟแสดงอัตราการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์ ร่วมกับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์อนามัยที่ 1-12 สถาบันพัฒนาสุขภาพเขตเมือง และสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร
2. จัดงานเปิดตัวกราฟการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักในหญิงตั้งครรภ์ไทยชุดใหม่ เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมการนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพมารดาอย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อเสนอแนะ
1. ศึกษาผลของมาตรฐานการเพิ่มน้ำหนักขณะตั้งครรภ์(ใหม่)
2. ศึกษาการพัฒนาระบบเฝ้าระวังภาวะโภชนาการทุกกลุ่มวัย