กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
การประชุมคณะอนุกรรมการด้านเป้าหมายลดคนขาดแคลนอาหาร (Hunger) และภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) ประจำปี 2568
วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 09.30 – 14.00 น.
ณ ห้องประชุมสมบูรณ์ วัชโรทัย อาคาร 1 ชั้น 2 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และผ่าน Zoom Meeting
ประธาน: พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ประธานอนุกรรมการฯ มอบหมาย ดร.นพ.ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานการประชุมฯ
เลขานุการ: ดร.พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ
ผู้ช่วยเลขานุการ: หัวหน้ากลุ่มบริหารยุทธศาสตร์ สำนักโภชนาการ ผู้แทนสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ
ผู้เข้าร่วมประชุม: เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนหน่วยงานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักการเกษตรต่างประเทศ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญที่ประธานอนุกรรมการแต่งตั้ง 1 ท่าน ได้แก่ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย และเจ้าหน้าที่สำนักโภชนาการ รวม 30 คน
วัตถุประสงค์การประชุม: เพื่อติดตามข้อมูลตัวชี้วัดรองรับเป้าหมายลดคนขาดแคลนอาหารและภาวะทุพโภชนาการ ตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570) และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี และคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ
ที่ประชุมรับทราบ:
1) การดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านเป้าหมายลดคนขาดแคลนอาหาร (Hunger) และภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) จากการประชุมฯ ครั้งที่ผ่านมา
2) ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการเฉพาะเรื่องภายใต้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการลดคนขาดแคลนอาหารและภาวะทุพโภชนาการ ด้านอาหารศึกษา โดย กรมอนามัย ด้านความมั่นคงอาหาร โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ข้อสังเกตจากที่ประชุมฯ: 1) ควรวิเคราะห์ Ecosystem ให้เห็นความเชื่อมโยงของผลการดำเนินงานด้านอาหารศึกษา กับด้านความมั่นคงอาหารและด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร เพื่อให้เห็นช่องว่างที่ชัดเจน 2) กลไกของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทยระดับจังหวัด บางส่วนมีการเปลี่ยนแปลงและทำให้การกำกับติดตามแผนงาน/โครงการขาดช่วงไป เช่น การถ่ายโอนภารกิจของ รพ.สต. จำเป็นต้องเร่งออกแบบมาตรการ โครงสร้าง และระบบงานเพื่อปิดจุดอ่อนของการขับเคลื่อนงาน
ประเด็นเพื่อพิจารณา:
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อลดคนขาดแคลนอาหาร (Hunger) และภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition)
1) ผลักดันให้มีนักโภชนาการชุมชนเพียงพอ มอบหมาย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขับเคลื่อนตามข้อสั่งการมติคณะรัฐมนตรีและบรรจุนักโภชนาการ และกรมอนามัยหารือร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับแนวทางการกำหนดค่างานที่เพิ่มขึ้นของนักโภชนาการ
2) ผลักดันให้เกิดมาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม หวาน มัน เค็ม อย่างเป็นรูปธรรม มอบหมาย กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. ดำเนินการกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการตามประกาศที่เกี่ยวข้อง และกรมอนามัยหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รับฟังข้อคิดเห็นจากภาคอุตสาหกรรม ในการดำเนินการตามแนวทางการใช้เกณฑ์ Nutrient Profile สำหรับควบคุมการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม หวาน มัน เค็ม
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฯ ดังกล่าว ควรมีคณะทำงานเฉพาะกิจ (Task Force) เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติหรือกลไกการผลักดันให้มีนักโภชนาการชุมชนที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และรับฟังมุมมองที่แตกต่างของภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม หวาน มัน เค็ม
นัดหมายการประชุมฯ ครั้งถัดไป : ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานประธานอนุกรรมการเพื่อกำหนดวันประชุมครั้งถัดไป