กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
ประธานการประชุม: ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน
ผู้เข้าร่วมประชุม: นางภิญญา จำรูญศาสน์ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน, นางเธียรทอง ประสานพานิช ผู้อำนวยการกองคุ้มครองเด็กและเยาวชน, ดร. แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ผู้แทนอธิบดีกรมอนามัย, แพทย์หญิงแสงโสม
สีนะวัฒน์ National Coordinator, lodine Global Network และคณะอนุกรรมการ/ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
วัตถุประสงค์:
1. พิจารณาแนวทางการป้องกัน แก้ไข และขจัดการขาดสารไอโอดีนในเด็กและเยาวชน
2. ปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการป้องกัน แก้ไข และขจัดการขาดสารไอโอดีนในเด็กและเยาวชน
สาระสำคัญ:
ดร. แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน ตามแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ พ.ศ. 2565 - 2570 ดังนี้
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ณ อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ได้ถวายรายงานการดำเนินงานฯ ใน 4 ยุทธศาสตร์หลัก ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ขับเคลื่อนการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนสู่ความยั่งยืน
มุ่งเน้นผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม ตั้งแต่ระดับกระทรวงจนถึงระดับพื้นที่ โดยใช้ฐานข้อมูลไอโอดีนระดับชาติ (แพลตฟอร์มไอโอดีน) เป็นฐานในการดำเนินงาน ทั้งนี้ จากความร่วมมือหลายภาคส่วนในการขับเคลื่อนชุมชนหมู่บ้านไอโอดีน ทำให้ปัจจุบันมีชุมชนหมู่บ้านไอโอดีนทั่วประเทศ จำนวน 34,271 แห่ง (ร้อยละ 42.2)
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาระบบควบคุมการผลิตเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
มุ่งเน้นการกำกับติดตาม โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด พบว่าในปี 2567 คุณภาพเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน ณ สถานที่ผลิตผ่านเกณฑ์ (ร้อยละ 90) และสถานที่จำหน่ายมีแนวโน้มดีขึ้น (ร้อยละ 72.4) ส่วนผลิตภัณฑ์ปรุงรส เช่น น้ำปลา และซอสถั่วเหลืองมีแนวโน้มผ่านมาตรฐานเพิ่มขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาระบบเฝ้าระวัง การจัดการข้อมูล และงานวิจัย
กรมอนามัยดำเนินการจัดทำระบบเฝ้าระวัง 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) ความครอบคลุมของครัวเรือนที่บริโภคเกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพ พบว่ายังไม่ถึงค่าเป้าหมายร้อยละ 90 2) ค่ามัธยฐานระดับไอโอดีนในปัสสาวะ (MUI) หญิงตั้งครรภ์ ช่วงปี 2563 - 2567 ในภาพรวมผ่านเกณฑ์ คือ 150 ไมโครกรัมต่อลิตรขึ้นไป และ 3) ความครอบคลุมของการได้รับยาเม็ดเสริมไอโอดีน ธาตุเหล็ก และกรดโฟลิก ร้อยละ 87.7 ใกล้เคียงค่าเป้าหมาย (ร้อยละ 88)
นอกจากนี้ ยังดำเนินการเก็บข้อมูล MUI ในเด็กอายุ 3 - 5 ปี และผู้สูงอายุ โดยใช้ระบบการตรวจแบบรอบ (Cyclic Monitoring System) ในปี 2566 - 2567 ครอบคลุม 53 จังหวัด พบว่าค่า MUI ทั้ง 2 กลุ่ม ภาพรวมอยู่ในระดับเพียงพอ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การขับเคลื่อนทางสังคม และการสื่อสารประชาสัมพันธ์
มุ่งเน้นการสื่อสารสังคม โดยกิจกรรมสำคัญคือ วันที่ 25 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันไอโอดีนแห่งชาติ มีการจัดรณรงค์ผ่านธีมงานที่มุ่งให้เกิดการ “ระดมทุนทางสังคม ปลุกพลังประชาชน สร้างความรอบรู้ด้านไอโอดีน”และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับบริบท และตอบโจทย์พื้นที่
สำหรับการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ในระยะครึ่งแผน (ปี 2568 - 2570) ยังคงมุ่งเน้นขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม 4 ยุทธศาสตร์หลักอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน มุ่งชุมชนเป็นฐาน
มติที่ประชุม :
1. มอบกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาแพลตฟอร์มไอโอดีนให้เป็น national database และกรมการปกครอง/กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เร่งดำเนินการขยายผลชุมชนหมู่บ้านไอโอดีน ผ่านแพลตฟอร์มไอโอดีน
2. มอบกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ศึกษาวิจัยปริมาณไอโอดีนในอาหารที่ประชาชนทุกกลุ่มวัยได้รับ และพัฒนาดัชนีความรอบรู้ในการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนของประชาชน
3. มอบสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดดำเนินการให้ระบบประกันคุณภาพเกลือมีความยั่งยืน ตลอดจนประสานกระทรวงอุตสาหกรรม จัดหาเครื่องผลิตเกลือเสริมไอโอดีนที่ได้คุณภาพ
4. เห็นชอบในรายชื่อคณะอนุกรรมการป้องกัน แก้ไข และขจัดการขาดสารไอโอดีนในเด็กและเยาวชน ชุดใหม่ โดยกระทรวงสาธารณสุข มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นอนุกรรมการที่ปรึกษา อธิบดีกรมอนามัยและอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นอนุกรรมการ