คุณกำลังมองหาอะไร?

ำนักโภชนาการ จัดประชุมคณะทำงานควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและกรดโฟลิก ครั้งที่ 1/2568

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

12.06.2568
1
0
แชร์
12
มิถุนายน
2568

สำนักโภชนาการ จัดประชุมคณะทำงานควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและกรดโฟลิก ครั้งที่ 1/2568
วันพุธที่ 11 มิถุนายน 2568 เวลา 13.30 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมอุทัย พิศลยบุตร อาคาร 4 ชั้น 5 สำนักโภชนาการ กรมอนามัย และผ่านระบบออนไลน์ Web Conference

 

ประธาน : ดร.นพ.ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย

เลขานุการ : ดร.พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ

ผู้เข้าร่วมประชุม : คณะทำงานควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและกรดโฟลิก ประกอบด้วย พญ.แสงโสม
สีนะวัฒน์ ดร.สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย แพทย์และผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์
แห่งประเทศไทย
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย
สมาคมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา กองแผนงาน สำนักส่งเสริมสุขภาพ และสำนักโภชนาการ รวมจำนวน 36 คน

 

วัตถุประสงค์ :

  1. เพื่อรายงานผลการศึกษาประสิทธิภาพของการเสริมธาตุเหล็กทุกวันและสัปดาห์ละครั้งต่อความชุกภาวะโลหิตจางในเด็กทารกไทยอายุ 6 – 12 เดือน

  2. เพื่อพิจารณาปรับคู่มือแนวทางการควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจาง 2568

  3. เพื่อร่วมผลักดัน ส่งเสริม สนับสนุน การดำเนินงานด้านการควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและกรดโฟลิก และร่วมสื่อสารสู่สาธารณะ

 

สาระสำคัญ

  1. สถานการณ์ความชุกภาวะโลหิตจางในเด็ก 0 – 5 ปี สูงในระดับที่น่ากังวล เด็กอายุ 5 – 9 เดือนมีภาวะโลหิตจาง ร้อยละ 6 และเด็ก 1 – 4 ปี ภาวะโลหิตจางร้อยละ 35.2 (SEANUT II) ดังนั้นในปี 2568 นี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย กำลังดำเนินโครงการ เด็กฉลาดด้วยธาตุเหล็ก ประกอบด้วยการขับเคลื่อน 3 ส่วน ได้แก่ รณรงค์ให้ผู้ปกครอง ประชาชน เจ้าหน้าที่ ตระหนักเห็นความสำคัญของธาตุเหล็กในเด็ก 0 – 5 ปี การผลักดันยาน้ำเสริมธาตุเหล็กและการคัดกรองภาวะโลหิตจางในเด็กเป็น PP Fee-schedule และร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรมพัฒนารสชาติยาน้ำเสริมธาตุเหล็ก โดยราชวิทยาลัย สมาคม ภาคีเครือข่ายร่วมในการสื่อสารถึงประชาชน

  2. ผลการศึกษาประสิทธิภาพของการเสริมธาตุเหล็กทุกวันและสัปดาห์ละครั้งต่อความชุกภาวะโลหิตจางในเด็กทารกไทยอายุ 6 – 12 เดือน (หัวหน้าโครงการ ผศ.ดร.ทิพวัลย์ พงษ์เจริญ สภาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล) เบื้องต้นพบว่า เมื่อให้ยาเสริมธาตุเหล็กเมื่อเด็กอายุ 6 เดือน ติดตามที่อายุ 9 เดือน และ 12 เดือน ระหว่างการกินแบบทุกวัน 3 เดือน และกินสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ไม่พบความแตกต่างของภาวะโลหิตจางและภาวะขาดธาตุเหล็ก และพบปัจจัยที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับค่า Hb และ Serum ferritin ได้แก่ Retinol binding protein ปริมาณธาตุเหล็กที่ได้รับจากอาหาร เป็นข้อสรุปเบื้องต้นว่าการให้ธาตุเหล็กสัปดาห์ละครั้งน่าจะเพียงพอในการป้องกันการขาดธาตุเหล็กในเด็กที่ยังไม่มีภาวะขาดธาตุเหล็ก

  3. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์แห่งประเทศไทย เห็นชอบปรับเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะโลหิตจางของประเทศไทย ให้สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก (Guideline on haemoglobin cut offs to define anemia in individuals and populations, WHO 2024) ดังนี้

    • เด็กอายุ 6 – 23 เดือน               Hb < 10.5 g/dL หรือ Hct < 32% *

    • เด็ก 24 – 59 เดือน                   Hb < 11 g/dL หรือ Hct < 33%

    • เด็กอายุ 5 – 11 ปี                    Hb < 11.5 g/dL หรือ Hct < 34%

    • เด็กอายุ 12 – 14 ปี                  Hb < 12 g/dL หรือ Hct < 36%

    • หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ ≥ 15 ปี  Hb < 12 g/dL หรือ Hct < 36%

    • ผู้ชาย อายุ ≥ 15 ปี                   Hb < 13 g/dL หรือ Hct < 39%

    • หญิงตั้งครรภ์ (RTCOG Clinical Practice Guideline Prevention and Management of Anemia in Pregnancy, March 2025.Thailand)

                                   - ไตรมาสที่ 1       Hb < 11 g/dL หรือ Hct < 33%
                                   - ไตรมาสที่ 2       Hb < 10.5 g/dL หรือ Hct < 32% *
                                   - ไตรมาสที่ 3       Hb < 11 g/dL หรือ Hct < 33%

  1. ในปี 2568 จะมีการปรับคู่มือแนวทางการควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจาง 2568 (ฉบับเดิม 2563) โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และคณะทำงานควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและกรดโฟลิก โดยมีการปรับสาระสำคัญดังนี้

    • แนวทางการคัดกรองภาวะโลหิตจางของเด็กปฐมวัย คือ ครั้งที่ 1 ที่เด็กอายุ 9 เดือน และครั้งที่ 2 ที่เด็กอายุ 4 ปี

    • แนวทางการให้ยาเสริมธาตุเหล็กมาตรการป้องกัน ขอให้ทีมวิจัยจากสถาบันโภชนาการดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในประเด็นที่งานวิจัยเบื้องต้นพบว่า การให้ยาน้ำเสริมธาตุเหล็กแก่เด็กอายุ 6 –12 เดือน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง มีประสิทธิภาพในการป้องกันภาวะโลหิตจางไม่แตกต่างจากการให้ทุกวันเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยขอให้จัดทำผลการวิเคราะห์ให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนกรกฎาคม 2568 เพื่อใช้ในการจัดทำแนวทางระดับประเทศต่อไป

    • แนวทางการรักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ดังนี้

                 ขนาดยารักษา

                       - เด็ก 6 เดือน – 5 ปี ยาน้ำเสริมธาตุเหล็กขนาด 4 – 6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ให้ 1 ครั้ง ต่อวัน
                       - เด็กโต/ผู้ใหญ่/หญิงวัยเจริญพันธุ์ ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก (ที่มีปริมาณธาตุเหล็ก 60 มิลลิกรัมต่อเม็ด) วันละ 1 เม็ด รับประทานทุกวัน
                       - หญิงตั้งครรภ์ ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กขนาด 100 – 200 มิลลิกรัม/วัน (ยาที่มีปริมาณธาตุเหล็ก 60 มิลลิกรัมต่อเม็ด) วันละ 2 – 3 เม็ด แบ่งให้ 1 – 2 ครั้งต่อวัน รับประทานทุกวัน

                 ระยะเวลา ให้ยาขนาดรักษาทุกวัน นาน 30 วัน หลังจากนั้น ตรวจค่า Hb/ Hct ซ้ำ หากตอบสนอง Hb เพิ่มสูงขึ้น ≥ 1 g/dL ให้ขนาดรักษาต่ออีก 60 วัน

  1. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ได้พัฒนา ข้อปฏิบัติการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (Food Based Dietary Guidelines : FBDGs) และธงโภชนาการ ของหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็ก 0 – 5 ปี ฉบับใหม่ปี 2567 ขอให้ทุกหน่วยงาน ช่วยขับเคลื่อนในการสื่อสารแนวทางการบริโภค เพื่อให้ประชาชนได้กินอาหารที่มีสารอาหารเพียงพอ ธาตุเหล็กเพียงพอ โดยมีสื่อความรู้ ได้แก่ ชุดความรู้ภาพพลิก สื่อวิดีโอสาธิตเมนูอาหารตามวัย เป็นต้น

  2. สำนักโภชนาการ กำลังเสนอขอปรับชุดสิทธิประโยชน์การจ่ายยาน้ำเสริมธาตุเหล็กในเด็กอายุ 6 – 12 เดือน และการคัดกรองภาวะโลหิตจางในเด็กอายุ 6 – 12 เดือน และเด็กอายุ 3 – 5 ปี เป็นการจ่ายรายบริการ (PP-Fee schedule) ในเขตสุขภาพที่ 1 – 12 ปีงบประมาณ 2569

 

ก้าวต่อไป

  1. นัดหมายประชุมคณะทำงานควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและกรดโฟลิก  ครั้งที่ 2/2568 อีกครั้งในเดือน กรกฎาคม 2568 หลังได้ผลสรุปเพิ่มเติมจากทีมวิจัยสถาบันโภชนาการ

  2. ปรับคู่มือแนวทางการควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจาง 2568 โดยคณะทำงานควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและกรดโฟลิก ให้แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2568 และสื่อสารแนวทางต่อไป

 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน