วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม 2568 เวลา 09.00 – 14.00 น. ดร.แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร เป็นประธาน
การประชุมทบทวนรายงานการประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านโภชนาการแห่งชาติ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 - 2570) ในระยะครึ่งแผน (พ.ศ. 2566 - 2568)
ณ ห้องประชุมอุทัย พิศลยบุตร อาคาร 4 ชั้น 5 สำนักโภชนาการ กรมอนามัย และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในระบบ Zoom Meeting
ผู้เข้าร่วมประชุม : บุคลากรสำนักโภชนาการ ผู้แทนศูนย์อนามัย กรมควบคุมโรค สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมกิจการผู้สูงอายุ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรมการพัฒนาชุมชน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานภาคีเครือข่าย รวม 70 คน
วัตถุประสงค์การประชุม : เพื่อนำเสนอผลการประเมินแผนปฏิบัติการด้านโภชนาการแห่งชาติฯ ระยะครึ่งแผน (พ.ศ. 2566 - 2568) โดยใช้รูปแบบนักเรียน 4 คน (Four Student Model: FSM) ซึ่งเป็นวิธีการประเมินทั้งผลลัพธ์และกระบวนการที่มีพื้นฐานมาจาก Total Quality Control (TQC) พร้อมทั้งให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่จะนำไปสู่การปรับปรุงสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการฯ ระยะครึ่งหลังของแผน ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันต่อไป
ประเด็นเพื่อพิจารณา:
- ผลการประเมินแผนปฏิบัติการด้านโภชนาการแห่งชาติฯ ระยะครึ่งแผน (พ.ศ. 2566 - 2568) ตามรูปแบบ Four Student Model (FSM) รวมทั้งสิ้น 47 โครงการสำคัญ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
- นักเรียน ก. คือ กลุ่มที่ประสบความสำเร็จ (ผลลัพธ์บรรลุเป้าหมาย และกระบวนการเป็นไปตามแผน) จำนวน 22 โครงการ
(ร้อยละ 47) กลุ่มนี้อาจสร้าง Best Practices เพื่อขยายผล หรือสื่อสารความสำเร็จเพื่อสร้างแรงจูงใจ สามารถดำเนินการต่อเนื่องได้ในระยะครึ่งหลังของแผน
- นักเรียน ข. คือ กลุ่มที่โชคดี (ผลลัพธ์บรรลุเป้าหมายแม้จะไม่ได้ปฏิบัติตามแผนอย่างครบถ้วน) จำนวน 1 โครงการ (ร้อยละ 2) อาจต้องวางแผนสำรองกรณีที่ต้องเตรียมข้อมูลเร่งด่วน
- นักเรียน ค. คือ กลุ่มที่ยังมีความหวัง (ผลลัพธ์ยังไม่บรรลุแต่มีกระบวนการที่ดีเป็นไปตามแผน) จำนวน 11 โครงการ
(ร้อยละ 24) ควรวิเคราะห์ช่องว่าง และทบทวนกลยุทธ์/กิจกรรมที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายตัวชี้วัด
- นักเรียน ง. คือ กลุ่มที่สิ้นหวัง ไม่มีโครงการที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้
ในขณะที่มีโครงการบางส่วนไม่สามารถจัดประเภทนักเรียนได้ จำนวน 13 โครงการ (ร้อยละ 28) เนื่องจากไม่มีตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการที่ชัดเจน อยู่ระหว่างดำเนินการ หรือไม่มีการรายงานผล
- พิจารณาข้อเสนอแนวทางเพื่อการปรับแผนในช่วงครึ่งหลัง (พ.ศ. 2568 – 2570) ประกอบด้วย 1) ปรับ ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายให้เป็นปัจจุบัน 2) ตัด โครงการที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 3) เพิ่ม รายละเอียดโครงการเดิม/ตัวชี้วัดโครงการสำคัญให้ชัดเจน และโครงการใหม่ในช่วงครึ่งหลังของแผน
ที่ประชุม:
- เห็นชอบผลการประเมินโครงการสำคัญภายใต้แผนปฏิบัติการด้านโภชนาการแห่งชาติฯ ระยะครึ่งแผน ตาม FSM ทั้งนี้ สามารถให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเดิมได้ภายในวันที่ 4 กรกฎาคม 2568
- เห็นชอบข้อเสนอแนวทางเพื่อการปรับแผนในช่วงครึ่งหลังของแผนแผนปฏิบัติการด้านโภชนาการแห่งชาติฯ (พ.ศ. 2568 – 2570) ทั้งนี้ ทีมเลขานุการจะแจ้งเวียนแบบฟอร์มให้หน่วยงานดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวต่อไป และส่งกลับสำนักโภชนาการ ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2568