คุณกำลังมองหาอะไร?

:

: นอนไม่หลับ ซึมเศร้า เพราะเรากิน สารให้ความหวานเทียม โดยเฉพาะแอสปาร์แตม หรือเปล่า

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

30.12.2564
763
2
แชร์
30
ธันวาคม
2564

เรื่อง : นอนไม่หลับ ซึมเศร้า เพราะเรากิน สารให้ความหวานเทียม
โดยเฉพาะแอสปาร์แตม หรือเปล่า

เรียบเรียงโดย

นายภาสกร  สุระผัด
นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ

สำนักโภชนาการ กรมอนามัย  เบอร์ 02 5904703

วันที่ตรวจสอบ 2 ธ.ค. 2564

ข้อสรุป : สารให้ความหวานเทียม มีผลกระทบต่ออารมณ์เชิงลบ นอนไม่หลับ ซึมเศร้า โดยเฉพาะแอสปาร์แตม (Aspartame) ซึ่งพบบ่อยในน้ำอัดลมแบบไม่มมีน้ำตาล รวมถึงสารให้ความหวานอื่นๆ เช่น ซอบิทอล ไซลิทอล ดังนั้นควรศึกษาข้อมูลจากฉลากโภชนาการ  ที่ปรากฎข้อความไม่ใส่น้ำตาล (no added sugar) แต่อาจมีสารให้ความหวานเทียมอยู่ และมีงานวิจัยพบว่าการทานสารให้ความหวานเทียบนอกจากจะกระตุ้นให้อยากกินน้ำตาลเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้คุณภาพของการนอนหลับลดลงด้วย

ลักษณะข่าว : ข่าวจริง

url website  : https://www.youtube.com/watch?v=DFZuCd9zBIg

ข้อเท็จจริง: การศึกษาวิจัยเรื่องสารให้ความหวานแทนน้ำตาลต่ออารมณ์ ส่วนใหญ่ที่พบในการศึกษาเป็นชนิดแอสปาร์แตม (Aspartame) ซึ่งพบมาในน้ำอัดลมสูตร diet ซึ่งการศึกษาวิจัยพบว่าแอสปาร์แตม สามารถเพิ่มสาร phenylalanine ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทหรือสารเคมีที่ช่วยส่งผ่านสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาทและสมองเมื่อเข้าสู่ร่างกายมันจะเปลี่ยนเป็น Dopamine (โดปามีน) Norepinephrine (นอร์อิพิเนฟริน) เป็นสารสื่อประสาทประเภทตื่นตัว ซึ่งทำหน้าที่เพิ่มความตื่นตัว นอกจากนี้แอสปาร์แตม (Aspartame) ยังเพิ่มสารที่ก่อให้เกิดความเครียดคือ คอร์ติซอล รวมถึงเพิ่มอนุมูลอิสระที่มากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงของสมองซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของระบบประสาท1 และมีการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผู้บริโภคแอสปาร์แตมสูง (25 มก./กก น้ำหนักตัว/วัน) พบว่า ผู้เข้าร่วมจะมีอารมณ์หงุดหงิดมากขึ้น มีภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้ที่บริโภคแอสปาร์แตมน้อย (<10 มก./กก น้ำหนักตัว/วัน ) ดังนั้น สรุปได้ว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาล โดยเฉพาะแอสปาร์แตม มีผลกระทบต่อระบบประสาท อารมณ์ และการนอนหลับได้

ผลกระทบ: การใช้สารให้ความหวานควรใช้ด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่เป็นไมเกรน ผู้ป่วยโรคลมชัก และเด็ก โดยเฉพาะในเด็กต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเด็กมักบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในปริมาณมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่แนะนำต่อน้ำหนักตัว นอกจากนี้ต้องระวังอาหารที่ฉลากระบุไว้ว่า “Sugar Free” เนื่องจากอาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าไม่มีน้ำตาล จึงบริโภคในปริมาณมาก ซึ่งอาจจะมีสารให้ความหวานที่ให้พลังงานอยู่ก็ได้ เช่น Sorbitol หรือ Mannitol รวมทั้งอาจมีแป้งและไขมันเป็นส่วนประกอบในปริมาณมากแทน ซึ่งย่อมมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้

ข้อแนะนำ: น้ำตาลเทียม เป็นเพียงการลดการได้รับพลังงานจากน้ำตาล ซึ่งยังได้รสชาติที่หวาน และร่างกายยังจดจำความอยากบริโภคหวานอยู่ รวมถึงการใช้น้ำตาลเทียมอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพด้านอื่นๆ ทางเลือกสุขภาพที่ดีกว่าควรจะเป็นการลดการบริโภครสหวานลง เพื่อให้ได้สุขภาพที่แท้จริง โดยเทคนิคแรกๆของการลดหวาน คือ สั่งเครื่องดื่มหวานน้อยหรือไม่ใส่น้ำตาล และการฝึกอ่านฉลากโภชนาการ เลือกชนิดที่ไม่เติมน้ำตาลและไม่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล  

   

เอกสารอ้างอิง

  1. Arbind Kumar Choudhary and Yeong Yeh Lee . Neurophysiological symptoms and aspartame: What is the connection?. Nutr Neurosci. 2018 Jun;21(5):306-316.
  2. Lindseth GN., et al. Neurobehavioral Effects of Aspartame Consumption. Res Nurs Health. 2014 Jun; 37(3): 185–193.

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน