กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
เรื่อง : "งาดำ"ธัญพืชดีต่อหัวใจ ลดปัจจัยเสี่ยงจากมะเร็ง
เรียบเรียงโดย
นางแคทธิยา โฆษร
นักโภชนาการปฏิบัติการ
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย เบอร์ 02 590 4329
วันที่ตรวจสอบ 14 ธันวาคม 2564
ข้อสรุป : งาดำ อุดมไปด้วยด้วยวิตามินและแร่ธาตุ เช่น วิตามินบีรวม แมกนีเซียม โพแทสเซียม โซเดียม ฟอสฟอรัส เหล็ก แคลเซียมและสังกะสี ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก และวิตามินอีช่วยบำรุงผิวพรรณ เมื่อกินงาดำเป็นประจำจะช่วยให้กระดูกแข็งแรง ผิวพรรณดี ลดระดับคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือโรคความดันโลหิตสูง ป้องกันโรคมะเร็งโดยเฉพาะโรคมะเร็งลำไส้ ผู้สูงอายุควรกินงาดำวันละ 10 ช้อน คนวัยทำงานควรกินงาดำวันละ 3 – 4 ช้อน งาขาวมีคุณค่าทางโภชนาการ พลังงาน 697 กิโลแคลอรี ไขมัน 64.2 กรัม แคลเซียม 90 มิลลิกรัม งาขาวมีแคลเซียมมากกว่านมวัวถึง 6 เท่า และมากกว่าผักหลายชนิดถึง 20 เท่า กินงาขาวเป็นประจำ ช่วยลดความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน บำรุงกระดูกและฟัน แม้งาขาวให้สารอาหารน้อยกว่างาดำ แต่การใช้งาขาวเพื่อสุขภาพ สามารถใช้ได้หลากหลาย ทั้งนำมาประกอบอาหารคาวและเป็นส่วนผสมของขนมหวาน
ลักษณะข่าว : ข่าวค่อนข้างจริง
url website : https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/479512
ข้อเท็จจริง: งาดำและงาขาวอุดมวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ เช่น วิตามินบี 1 บี 2 บี 3 แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก ซึ่งมีส่วนช่วยบำรุงกระดูก ป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน ช่วยบำรุงเลือด มีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบ และมีใยอาหารสูงช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ งาเป็นธัญพืชที่ให้น้ำมันและพลังงานสูง จึงควรกินในปริมาณที่เหมาะสม คือ วันละไม่เกิน 1 ช้อนโต๊ะ ซึ่งจะให้พลังงานประมาณ 50 – 60 กิโลแคลอรี
ผลกระทบ: การกินงาดำที่มากเกินไปจะส่งผลต่อภาวะน้ำหนักเกินเนื่องจากมีพลังงานสูง และหากกินงาดำที่ไม่สะอาด หรือมีสิ่งสกปรกเจือปน อาจจะเสี่ยงกับอันตรายจากสิ่งเจือปนและเชื้อราที่อยู่ในงาดำด้วย
ข้อแนะนำ: งาดำเป็นพืชที่มีน้ำมันเป็นองค์ประกอบหลัก จึงมีพลังงานสูง (100 กรัม พลังงาน 594 กิโลแคลอรี) จึงควรกินในปริมาณที่เหมาะสม หรือวันละไม่เกิน 1 ช้อนโต๊ะ (15 กรัม)
เอกสารอ้างอิง :
Wu M., Aquino L. B. B., Barbaza M. Y. U., Hsieh C., Castro-Cruz K. A. D., Yang L., & Tsai P. Anti-Inflammatory and Anticancer Properties of Bioactive Compounds from Sesamum indicum L.—A Review. Molecules 2019, 24, 4426; doi:10.3390/molecules24244426. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/31817084/