คุณกำลังมองหาอะไร?

5

5 ข้อควรรู้ เสริมภูมิคุ้มกันต้านโควิด-19 ด้วย ”ไฟโตนิวเทรียนท์”

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

25.01.2565
249
0
แชร์
25
มกราคม
2565

เรื่อง : 5 ข้อควรรู้ เสริมภูมิคุ้มกันต้านโควิด-19 ด้วย "ไฟโตนิวเทรียนท์"

เรียบเรียงโดย

นางสาวนฤมล ธนเจริญวัชร

ตำแหน่ง นักโภชนาการปฏิบัติการ

สำนักโภชนาการ กรมอนามัย  เบอร์ 02 590 4791

วันที่ตรวจสอบ 25  มกราคม 2565

 

ข้อสรุป : แนะนำ 5 ข้อควรรู้เกี่ยวกับสารพฤกษเคมีหรือไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) ที่มีส่วนสำคัญต่อ
การเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนี้

  1. สารพัดประโยชน์ของไฟโตนิวเทรียนท์ กลุ่มสารอาหารที่ได้จากผักและผลไม้ 5 สีมีประโยชน์

  2. พลังของผักและผลไม้กลุ่มสีเขียว โดยเฉพาะในตระกูลกะหล่ำมีสารซัลโฟราเฟน (sulforaphane) เป็นสารต้านการอักเสบและเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย

  3. เบต้า-แคโรทีน ช่วยต้านอนุมูลอิสระ พบในผักผลไม้สีส้ม ช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาว และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้มีประสิทธิภาพเมื่อติดเชื้อจากแบคทีเรียและไวรัส

  4. ปริมาณผักและผลไม้ที่ต้องรับประทาน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ลดแป้งและไขมัน เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ในแต่ละวันให้มากขึ้นและบริโภคอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ WHO แนะนำว่า ควรบริโภคผักและผลไม้ในปริมาณ 400 กรัมต่อวัน หรือ 5 หน่วยบริโภค (หน่วยบริโภคละ 80 กรัม หรือประมาณ 1 อุ้งมือ) รวมถึงควรลดปริมาณแป้งและไขมัน

  5. เคล็ดลับโภชนาการเพื่อสุขภาพดี WHO แนะนำการดูแลสุขภาพที่ดีในช่วงโควิด-19 คือการทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงในทุกวัน ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว และหมั่นทำความสะอาดภาชนะและล้างมือเป็นประจำ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

คุณประโยชน์ของไฟโตนิวเทรียนท์ในผักและผลไม้ 5 สี ดังนี้

  • สีแดงมีสารไลโคปีน และกรดเอลลาจิกช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์

    เสริมภูมิต้านทานในร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ช่วยเสริมสุขภาพของ

    ต่อมลูกหมาก หัวใจ และหลอดเลือด

  • สีส้มมีสารเบต้า-แคโรทีน และเฮสเพอริดินช่วยปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงสุขภาพดวงตา ยับยั้งความเสื่อมของเซลล์ ชะลอความชรา และเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง

  • สีเขียวมีสารไอโซฟลาโวน จีซีจี ลูทีน/ซีแซนทิน และไอโซไธโอไซยาเนท ช่วยต้านอนุมูลอิสระ เสริมสุขภาพของเซลล์หรือช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ สนับสนุนการทำงานของหลอดเลือดแดง สุขภาพปอด และส่งเสริมการทำงานของตับ

  • สีม่วงมีสารแอนโธไซยานิน และเรสเวอราทรอล ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยระบบความจำ ช่วยสุขภาพหัวใจ สนับสนุนการทำงานของหลอดเลือดแดง

  • สีขาวมีสารอัลลิซิน และเควอซิทินช่วยเสริมสุขภาพกระดูก เสริมสุขภาพการไหลเวียนโลหิต สนับสนุนการทำงานของหลอดเลือดแดง เป็นสารอนุมูลอิสระชั้นดี มีฤทธิ์เสริมภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และยับยั้งเซลล์มะเร็ง

             การเลือกบริโภคทานผักและผลไม้ที่มีสีสันที่หลากหลายในแต่ละวันจะทำให้เราได้รับคุณประโยชน์จากไฟโตนิวเทรียนท์อย่างครบถ้วน รวมถึงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงและมีประสิทธิภาพ

 

 

 

ลักษณะข่าว : ข่าวจริง

url website :  https://www.sanook.com/health/31077/

ข้อเท็จจริง: สารพฤกษเคมีหรือไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) คือสารสีต่างๆในผักและผลไม้                สีแดงมีไลโคปีน สีส้ม/เหลืองมีสารเบต้า-แคโรทีนและเฮสเพอริดิน สีเขียวมีสารไอโซฟลาโวน ลูทีน ซีแซนทินและไอโซไธโอไซยาเนท สีม่วง/ฟ้ามีสารแอนโธไซยานินและเรสเวอราทรอล สีขาวมีสารอัลลิซิน สารสีเหล่านี้ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง  

ผลกระทบ : ต้องระวังสารเคมีกำจัดแมลงที่ตกค้าง สารปนเปื้อนต่างๆ เพราะหากได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายอาจก่อให้เกิดโทษและผลเสียต่อสุขภาพได้ เราจึงควรรู้จักวิธีเลือกซื้อผัก ผลไม้ และการล้างให้ปลอดภัยก่อนรับประทานด้วย

ข้อแนะนำ : นอกจากผัก ผลไม้แล้วควรกินอาหารครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลายในปริมาณและสัดส่วนเหมาะสม มีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง

เอกสารอ้างอิง

  1. ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย, สำนักโภชนาการ กรมอนามัย,

  2. ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย, สำนักโภชนาการ กรมอนามัย, 2563

  3. เมนูอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับทุกวัยในช่วงCOVID-19, สำนักโภชนาการ กรมอนามัย, 2563.

 

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน