คุณกำลังมองหาอะไร?

พืช

พืชผักและผลไม้ที่ผู้ป่วยโรคไตควรระวัง

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

29.12.2564
1715
0
แชร์
29
ธันวาคม
2564

พืชผักและผลไม้ที่ผู้ป่วยโรคไตควรระวัง

เรียบเรียงโดย

นางสาวอัญชลี  ศิริกาญจนโรจน์  

นักโภชนาการปฏิบัติการ

สำนักโภชนาการ กรมอนามัย 

29 ธันวาคม 2564

“ภาวะไตวายเฉียบพลัน” คือ ภาวะที่มีการสูญเสียการทำงานของไตลงอย่างรวดเร็วในช่วงเวลา       เป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน เป็นผลให้เกิดการคั่งของของเสียและการควบคุมสมดุลกรดด่าง รวมทั้งปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที สามารถรักษาให้ไตกลับสู่ภาวะปกติได้       แต่ถ้าความผิดปกติที่เกิดขึ้นซึ่งอาจเป็นความผิดปกติทางโครงสร้างหรือการทำงาน (อัตราการกรองของเสีย)         ที่ลดลง อย่างต่อเนื่องนานเกิน 3 เดือนขึ้นไป เรียกว่า “โรคไตเรื้อรัง” การกินอาหารที่ถูกต้องเป็นวิธีการหนึ่งที่มีความสำคัญที่จะช่วยไม่ให้ไตทำงานหนัก ลดการคั่งของเสียที่เกิดขึ้นในร่างกาย สามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ ช่วยให้มีสุขภาพดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

พืชผักและผลไม้ที่ผู้ป่วยโรคไตควรระมัดระวังในการกิน

  1. ผักผลไม้ที่มีกรดออกซาเลต (oxalic acid) ปริมาณสูง สามารถจับกับแคลเซียมตกตะกอนเป็นก้อนนิ่วที่ไต ทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดเอว ปัสสาวะปริมาณลดลง ผลการตรวจปัสสาวะอาจพบเม็ดเลือดแดงปนร่วมกับผลึกแคลเซียมออกซาเลต (calcium oxalate crystals) ตัวอย่างที่พบได้บ่อย คือ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง หรือคนปกติที่ชอบรับประทานน้ำคั้นมะเฟืองเปรี้ยวในปริมาณมากและบ่อยๆ (มะเฟืองเปรี้ยวมีปริมาณกรดออกซาเลตมากกว่ามะเฟืองหวานประมาณ 4 เท่า) ซึ่งผักผลไม้ที่มีกรดออกซาเลตสูงมากกว่า 300 มิลลิกรัม/100 กรัม เช่น มะเฟือง ผักโขม ผักแพว โกฐน้ำเต้า ปวยเล้งมันสำปะหลัง เป็นต้น

  2. ลูกเนียง (Djenkol bean) เป็นผักที่นิยมกินโดยเฉพาะภาคใต้ของไทย ในลูกเนียงมีสาร djenkolic acid ที่สามารถตกตะกอนเป็นผลึกได้ในกรณีที่มีความเข้มข้นสูงและในภาวะเป็นกรด ทำให้เกิดเป็นนิ่วอุดตันของทางเดินปัสสาวะได้ อาการพิษจากลูกเนียงมักสัมพันธ์กับการกินลูกเนียงดิบร่วมกับการดื่มน้ำน้อย ปริมาณที่ทำให้เกิดพิษนั้นมีรายงานตั้งแต่ 1-20 เมล็ด พบว่ามีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเอว ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเป็นเลือด และความดันโลหิตสูง ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ควรหลีกเลี่ยงการกินลูกเนียงดิบ

  3. ผักผลไม้ที่มีปริมาณโพแทสเซียม (potassium) สูง โพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญที่มีผลต่อ การทำงานของกล้ามเนื้อและหัวใจ เมื่อไตเสื่อมการขับโพแทสเซียมจะลดน้อยลง ทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมเกิน อาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจวายและหยุดเต้นเฉียบพลันได้ แพทย์และนักกำหนดอาหารจะแนะนำชนิดของผักผลไม้ โดยดูค่าระดับโพแทสเซียมในเลือดควบคู่ด้วย หากมีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงมากกว่า5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ควรหลีกเลี่ยงผักที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น คะน้า ผักโขม หน่อไม้ แครอท ยอดฟักแม้ว ฟักทอง เป็นต้น และผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ลูกยอ มะเฟือง   เชอร์รี่ กล้วยหอม กล้วยตาก มะขามหวาน ฝรั่ง น้ำส้มคั้น น้ำผลไม้รวม ผลไม้แห้ง เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

  1. มณีรัตน์ จิรัปปภา. การชะลอไตเสื่อมจากวัยผู้ใหญ่ถึงวัยผู้สูงอายุ. วารสารวิทยาลัยพยาบาลราชชนนี นครราชสีมา 2557; 20: 5-16.

  2. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย. คู่มือสำหรับประชาชน “ทำอย่างไร ? ไตไม่วาย” สมุทรปราการ: บี.เอ็น.เอส.แอดวานซ์; 2560.

  3. โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์. กินอย่างไรให้ไตแข็งแรง. 2557 เข้าถึงได้จาก: http://164.147.155/kmhealth_new/Documment/kidney/nal/pdf2557.pdf

  4. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย. แบบแผนอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังก่อนได้รับการบำบัดทดแทนไต.เข้าถึงได้จาก: https://nephrothai.org/wp-content/uploads/2020/08/อาหารสำหรับผู้ป่วยไตเรื้อรัง.pdf

  5. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. ผักผลไม้…ที่ควรระวังในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าถึงได้จาก: https://mahidol.ac.th/th/knowledge/article/141/ผักผลไม้ที่ควรระวังในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง/

  6. โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์. ผัก ผลไม้ ทำให้ไตวายได้. เข้าถึงได้จาก: https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/food-induces-acute-kidney-failure

  7. ฉัตรชัย กรีพละ, สรัญญา วัชโรทัย. มะเฟืองกับภาวะไตวายเฉียบพลัน. มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย. 2551 เข้าถึงได้จาก: https://www.kidneythai.org/pdf/food_carambola.pdf

 

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน