เรื่อง ป้อนกล้วยให้เด็กทารก ทำได้หรือไม่
เรียบเรียงโดย
นางสาวภัทชธีญา พวงแก้ว
นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ปฏิบัติการ
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย เบอร์ 0 2968 7619
วันที่ตรวจสอบ 5 กุมภาพันธ์ 2565
ข้อสรุป : หยุดป้อนกล้วยให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน เพราะ เสี่ยงติดคอ สำลัก ลำไส้อักเสบหรือลำไส้อุดตัน บางรายไส้แตกหรือเสียชีวิต สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน นมแม่มีสารอาหารและน้ำเพียงพอ มีทั้ง โปรตีน ไขมัน น้ำตาล แคลเซียม โฟเลท วิตามินที่จำเป็นต่างๆ ที่สำคัญคือ มีสารภูมิคุ้มกันจากแม่ การย่อยอาหารในร่างกายของเด็กจะ สมบูรณ์เริ่มที่ 4 เดือนขึ้นไป แต่บางบ้านหมอบอกกินได้แล้ว เป็นกรณีที่แพทย์ประเมินลำไส้แล้วว่าเริ่มทานได้ แต่จะไม่ต่ำกว่า 4 เดือน ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย รออายุ 6 เดือนดีที่สุด เมื่อครบ 6 เดือนแล้ว นอกจากกล้วยควรเสริมอาหารตามวัยให้ครบหมู่ด้วย
ลักษณะข่าว : ข่าวจริง
ข้อเท็จจริง : ในเด็กทารกแรกเกิด การทำงานของระบบย่อยอาหารยังไม่สมบูรณ์ กล้วยที่รับประทานไปไม่สามารถย่อยและดูดซึมในกระเพาะอาหารและลำไส้ของเด็กทารกได้ จึงไปขัดขวางการทำงานของลำไส้ ทำให้ลำไส้อุดตัน รวมถึงอาจสำลัก ทำให้เกิดภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ อาจเสียชีวิตได้ ทารกในวัยแรกเกิดถึง 6 เดือน ควรได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนจากนมแม่เป็นหลัก ซึ่งในนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด มีภูมิคุ้มกันโรค ฮอร์โมน ช่วยระบบการย่อยได้
ผลกระทบ : ระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาท รวมถึงระบบย่อยอาหารของเด็กทารกอายุต่ำกว่า 4 เดือน ยังพัฒนาไม่เต็มที่ หากป้อนอาหารก่อนอายุ 4 เดือน มีโอกาสที่จะสำลักง่าย และเกิดความเสี่ยงดังกล่าวได้
ข้อแนะนำ : ทารกแรกเกิดถึง 6 เดือนควรกินนมแม่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องให้อาหารอื่นแม้แต่น้ำ เพราะนมแม่มีสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอ หากจะให้อาหารตามวัยควรให้เด็กอายุ 6 เดือนเป็นต้นไปเพราะมีความพร้อมระบบย่อยอาหาร
เอกสารอ้างอิง :
-
สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
-
3. Infographic อาหารทารกอายุแรกเกิด – 12 เดือน เข้าถึงได้จาก: สำนักโภชนาการ กรมอนามัย https://nutrition2.anamai.moph.go.th/th/infographic?page=5 [เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565]